"ลดคาร์บอน 0%" เป้าหมายท้าทายโลกและไทย

"ลดคาร์บอน 0%" เป้าหมายท้าทายโลกและไทย

"ปัญหาสิ่งแวดล้อม" วิกฤติรุ่นพี่ ที่รุนแรงไม่ต่างกับ "โควิด-19" กำลังประท้วงด้วยภัยพิบัติต่างๆ ที่มีผลพวงจากพฤติกรรมของมนุษย์ การลดคาร์บอน 0% เพื่อแก้ปัญหา กำลังท้าทายโลกและไทยในทุกๆ มิติ แบบไม่อาจหลีกเลี่ยง

แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้โลกอย่างรุนแรง ผู้คนล้มตาย เศรษฐกิจย่อยยับ ส่งผลให้ภาครัฐและเอกชนมุ่งจัดการปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนในทุกด้าน

แต่ปัญหาที่ร้ายแรงและเข้าขั้นวิกฤติไม่แพ้กัน คือ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและสิ่งแวดล้อม" เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรงมากขึ้น ผลจากสภาวะโลกร้อนในหลายประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก

"ปัญหาสิ่งแวดล้อม" ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคหันมาตระหนักและตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นโดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และผลักดันให้ผู้บริโภคมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

การทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อโลก หรือธุรกิจสีเขียว (Green Business) จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังเดินไป เป็น New Business Model ใหม่ที่ควรเป็นพันธกิจกระจายไปทุกอุตสาหกรรม เกิดเป็นภาพการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ ส่งผลเสียต่อโลกให้น้อยที่สุด ธุรกิจสีเขียว กำลังเป็นธุรกิจมาแรง น่าจับตา นักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างฟันธงว่านี่ คือ “ธุรกิจแห่งอนาคต”

งานสัมมนาออนไลน์ Go Green เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียว เมื่อธุรกิจได้ โลกต้องได้ จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” วานนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุในปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์ไทยลดก๊าซเรือนกระจก” ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน

โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในแบบต่างๆ อากาศเปลี่ยนสุดขั้ว ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน ไฟป่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อุณหภูมิโลกร้อนที่ร้อนขึ้น 2 องศาฯ ทำให้น้ำท่วมเพิ่มขึ้น 170% ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากน้ำแข็งที่ละลายในขั้วโลก ประชากรโลกจะได้รับผลกระทบ 40-50 ล้านคนจะสูญเสียที่พักอาศัยและที่ทำกิน 

การแพร่ระบาดโควิด ส่งผลให้โลกชะลอกิจกรรมการผลิต ไม่มีการเดินทาง ทำให้ตัวเลขปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลดลง 6% ของประเทศไทยลดลง 10% และหลายพื้นที่ธรรมชาติได้พัก มีเวลาฟื้นตัว

หากสิ่งที่ต้องระวัง คือ หลังโควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจกลับมาเดินเครื่องการผลิต อาจเป็นตัวเร่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศกลับมาอีก ในเดือนนี้ (ต.ค.) การประชุม COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร จะเป็นเวทีที่ชาติต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมเพื่อสร้างพันธกิจร่วมกัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

ความท้าทายของเวทีนี้ คือ การผนึกกำลังลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงจนเหลือศูนย์ในปี 2050 แน่นอนว่า ไทยจะประกาศเป้าหมายบนเวทีนี้ด้วย

ประเทศไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% และก่อนปี 2100 ไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” นับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายโลกและประเทศไทยเป็นอย่างมาก แม้วันนี้เราจะเริ่มรู้สึกอินกันมากขึ้นแล้วว่า จำเป็นต้องร่วมกันรับมือกับปัญหาโลกร้อนกันอย่างจริงจัง