หนุนทำวิจัยและพัฒนา 'นวัตกรรม'เพื่อการศึกษาทุกระดับ

หนุนทำวิจัยและพัฒนา 'นวัตกรรม'เพื่อการศึกษาทุกระดับ

'ตรีนุช' หนุนทำวิจัยและพัฒนา 'นวัตกรรม' เพื่อพัฒนาการศึกษาทุกระดับ องค์กรหลัก ศธ.ชูเทคโนโลยี 'นวัตกรรม' สร้างโอกาสและความเท่าเทียม เพิ่มศักยภาพเด็กไทยในอนาคต

วันนี้ (26 ส.ค.2564) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 16 หัวข้อ “นวัตกรรมการศึกษา : กล้าเปลี่ยน สร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย”

  • 'นวัตกรรม'กลไกสำคัญขับเคลื่อนการศึกษา

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมผ่านระบบออนไลน์และบรรยายพิเศษตอนหนึ่ง ว่า การวิจัยและการพัฒนา นวัตกรรม ถือเป็นกลไกลสำคัญในการกำหนดการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ผ่านการทำวิจัย เพื่อพัฒนาแนวคิด ทฤษฎี กระบวนการ ทัศนะทางการศึกษาใหม่ๆ ในมิติต่าง ๆ เช่น การจัดการสอน หลักสูตรการประเมินผลการเรียนรู้ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้สอน ผู้เรียน โรงเรียน ชุมชม และการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เป็นต้น

162997001297

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริม การทำวิจัย และการพัฒนา นวัตกรรม ควรมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อยกระดับการวิจัยสู่การเพิ่มศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการทำวิจัยระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ การส่งเสริมกระบวนการทำงานของภาครัฐและเอกชน ในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมให้เป็นแบบเปิดและบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนสภาการศึกษามีบทบาทสำคัญในการวางกรอบ เป้าหมาย และทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ เพื่อการพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถของคนไทยในทุกช่วงวัยผ่านการจัดทำนโยบาย และแผนการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แผนการปฎิรูปด้านการศึกษา

รวมถึงการปฎิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงใน ศตวรรษที่ 21 การพัฒนาระบบวิจัย การศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่และกระตุ้นให้นำผลการวิจัย ผลงานสร้างสรรค์ และนวัตกรรมทางการศึกษา ที่สามารถนำไปเป็นประโยชน์ เพื่อนำไปพัฒนาการศึกษา

  • 'นวัตกรรม' การศึกษาในยุคดิจิทัล

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) บรรยายพิเศษ หัวข้อ “เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาในยุคดิจิทัล” ว่า เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาในยุคดิจิทัล เป็นความหวังการศึกษาไทย แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด 19 หรือไม่มี เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการศึกษาที่ทันสมัย สร้างเด็กในศตวรรษที่ 21 และการสร้างพลเมืองยุค 4.0

แต่เราต้องศึกษาให้ถ่องแท้ว่าจะนำมาใช้อย่างไร ขณะที่ความพร้อมของครู และนักเรียนก็ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นต้องเร่งให้ความรู้แก่ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งทุกคนจะต้องปรับตัวกันอย่างมโหฬาร เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงศึกษาธิการไม่นิ่งนอนใจที่จะนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้กับการศึกษาในยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ไม่ว่าเทคโนโลยีจะดีแค่ไหน ถ้าเรายังไม่รู้และยังไม่พร้อม ย่อมไม่สามารถที่จะนำมาแทนครูได้ อย่างไรก็ตามในฐานะที่ตนเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยคิดจะให้ลูกหรือเด็กนักเรียนได้เรียนกับเครื่อง เพราะเด็กต้องเรียนกับครูและเครื่อง เพื่อให้เด็กมีมนุษยสัมพันธ์กับทุกคน อย่างไรก็ตามการเรียนออนไลน์จะต้องทำให้สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของนักเรียนด้วย และการเรียนออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ อยากให้พ่อแม่มีเวลาให้กับลูก เพราะเวลาที่พ่อแม่อยู่กับลูกเป็นเวลาที่มีคุณภาพ

162997002719

  • กล้าเปลี่ยน กล้าสรรรค์ยกระดับการศึกษา

ดร. สุภัทร จําปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “นวัตกรรมการศึกษา : กล้าเปลี่ยน สร้างสรรค์ ยกระดับการศึกษา”ว่า เราอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มาปีกว่า ทำให้สถานการณ์จัดการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนแปลงไป เป็นการเรียนโดยผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นการเรียนระบบทางไกล ผ่านระบบออนไลน์ ออนแอร์

สิ่งที่พบคือการจัดการศึกษาระบบทางไกลมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและความสามารถในการมีเครื่องมือสื่อสารของผู้เรียนเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ แต่ครูก็สามารถแก้ปัญหาได้ใช้ระบบออนแฮนด์ ที่นำเอกสาร ใบงาน ไปส่งให้เด็กถึงบ้านและยังได้แนะนำพบปะพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครองได้ด้วย จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า วันนี้สายอาชีวะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น มีเด็กเรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจ เพราะถือเป็นการสร้างทางเลือกให้ผู้เรียนสายอาชีพ สำหรับเรื่องคุณลักษณะผู้เรียนที่สภาการศึกษากำหนดว่า ควรเป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา เป็นนักสร้างสรรค์ เป็นนักพัฒนานวัตกรรม และเป็นพลเมืองดีที่เข้มแข็ง

  • เส้นทางอาชีวะเติบโต เร่งสร้างนวัตกรรม

การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ได้คุณลักษณะที่พึงประสงค์นั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสถานศึกษา ดังนั้นพื้นที่จึงเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบการจัดการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวตนอยากเห็นผู้เรียนที่ถูกพัฒนาอยู่ในสังคมของการเรียนรู้ การใช้ความรู้ในการวิเคราะห์ เลือก และตัดสินใจ อยากเห็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความสามารถในการพัฒนาตนเองในทักษะอาชีพที่จะสามารถอยู่ในสังคมได้ทั้งการเลี้ยงตัวเองและประกอบอาชีพ

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า เส้นทางอาชีวศึกษากำลังจะเติบโตขึ้น ดังนั้นอาชีวศึกษาจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องสร้างนวัตกรรมการศึกษา ที่จะต้องมีความทันสมัย และทันการณ์ คือ ทันต่อความต้องการของผู้เรียนที่มีถนัดมีศักยภาพที่หลากหลาย และทันต่อความต้องการของสถานประกอบการ เพราะการเรียนทุกระดับต้องตอบสนองโลกของอาชีพ คือ การเข้าไปทำงานจริง

ดังนั้นอาชีวศึกษาจะมอง 2 ระดับ คือ 1.การพัฒนาผู้เรียนด้วยการสร้างนวัตกรรมจากผู้เรียน ตามมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ ปี 2561 กำหนดให้ผู้เรียนร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของผู้เรียนที่มีหลากหลาย เช่น ประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 

162997004730

2. การสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาของการอาชีวศึกษาทั้งระบบ เพื่อเป็นแรงผลักผู้เรียนที่มีคุณภาพ และขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ CVM เพื่อเชื่อมโยงการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ทั้ง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง( ปวส.) และปริญญาตรี ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของอุตสาหกรรมในอนาคต และเมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องไปทำงานได้ทันที

ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)  กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดให้คนไทยต้องมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในทุกด้าน รวมถึงด้านการศึกษาด้วย ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เห็นความสำคัญเรื่องการสร้างนวัตกรรม และโอกาสทางการศึกษา

โดยเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในขณะนี้มีศักยภาพมากและจะช่วยตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสร้างโอกาสที่ทำให้เด็กทุกวัยได้มีโอกาสใกล้เคียงกัน ลดความแตกต่างระหว่างเด็กในเมืองและเด็กในชนบท เช่น เรียนครูเก่ง ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งที่ยาก เป็นง่ายได้ อีกทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้เด็กแต่ละคนได้ด้วย