'หมอชนบท'ลงพื้นที่ 'ตรวจโควิด' 26 จุดในกทม.พบผู้ป่วยจำนวนมากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

'หมอชนบท'ลงพื้นที่ 'ตรวจโควิด' 26 จุดในกทม.พบผู้ป่วยจำนวนมากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

'โควิด 19' ของไทยในขณะนี้เรียกว่า วิกฤตขั้นสุด ทั้ง เตียงเต็ม ไอซียูล้น วัคซีนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยต้องนอนรอเตียง รอความตายที่บ้าน ข้างถนน จะได้ 'ตรวจโควิด' สักครั้งก็แสนยากเย็น

หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทางรอดของการลดการแพร่ระบาดที่มีผู้ป่วยรายใหม่ วันละทะลุไป 20,000กว่าราย ต้องตรวจคัดกรองค้นหา ‘ผู้ป่วยโควิด 19’ ให้ได้เร็วที่สุด และแยกคนกลุ่มนี้มาจากคนปกติ

  • ตรวจ‘Antigen test kit’เป็นบวกก็ไม่มีเตียงรักษา

ทว่าในทางปฎิบัติกลับทำไม่ได้แม้ว่าให้มีการตรวจเชิงรุกในชุมชน โดยอนุญาตให้ใช้ ‘Antigen test kit’ ตรวจเบื้องต้น ประชาชนสามารถตรวจเองได้ และเมื่อผลออกมาเป็นบวกก็ต้องไปตรวจในรูปแบบ RT-PCR ในโรงพยาบาลอีกครั้ง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการได้รับการรักษา

แม้ล่าสุด สธ.ปรับแนวทางใหม่หากผลตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท เป็นบวกเข้ารักษา Home Isolation ทันที แต่หากไม่ได้ให้ทำการตรวจคอนเฟิร์ม RT-PCR ระหว่างรอให้ส่งรายงานกลุ่มนี้เป็น Probable case แต่หากผลยืนยันเป็นบวกให้รายงานเป็น Confirm case

162747859919

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจว่า การแพร่ระบาดโควิด 19 ในพื้นที่กทม.ค่อนข้างรุนแรง และกลุ่มแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระอย่างหนัก ซึ่งรัฐในปัจจุบันแทบจะล้มเหลว ระบบสาธารณสุขก็ไม่ไหว ทุกคนต้องดูแลกันและกัน ทีมแพทย์จากชนบทได้เข้ามาช่วยปฏิบัติการรับมือ ซึ่งได้ลงพื้นที่ชุมชนกทม. จำนวน 2 รอบ และครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 มาตั้งแต่วันที่ 4-10 ส.ค. ซึ่งวันนี้จะเป็นวันสุดท้าย 

โดยรอบแรก มี ทีมแพทย์จากชนบท ทั้งหมด 6 ทีม ใช้เวลา 3 วัน สามารถตรวจคัดกรองโควิด 19 ได้ประมาณ 19,000 คน พบผู้ป่วยติดเชื้อ 1,700 ราย หรือประมาณ 9 % ซึ่งได้ช่วยชุมชนไปส่วนหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ไหน เนื่องจากรพ.รัฐในกทม.ทุกแห่งขอให้คนไข้ไปตรวจ RT-PCR ก่อน ซึ่งมีรพ.เอกชนรับตรวจ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 4,000-5,000 บาท ทำให้หลายคนไม่มีเงินไปตรวจ และต้องนอนที่บ้านเหมือนเดิม

162857323967

  • นอนรอเตียงที่บ้านตามยถากรรม

ต่อมารอบสอง ทีมแพทย์จากชนบท ทั้งหมด 15 ทีมใช้เวลา 3 วัน พบว่าสามารถตรวจคัดกรองได้ 30,000 คน มีผู้ติดเชื้อ 5,000 ราย หรือ 17 % ซึ่งในรอบนี้ ได้มีการตรวจ RT-PCR ร่วมด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่มีรพ.ไหนรับเข้าไปรักษา เพราะเตียงทุกโรงพยาบาลเต็มหมด รวมถึงรพ.สนาม ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เนื่องจากศูนย์พักคอยในกทม.มีไม่เพียงพอ ทุกคนก็ต้องนอนรอเตียงที่บ้านเหมือนเดิม และการนอนบ้านไม่ได้รับการรักษา ทำให้หลายคนนอนตามยถากรรม และหลายคนต้องเสียชีวิตอย่างที่เป็นข่าว

ส่วนรอบที่ 3 นี้ มาทั้งหมด 40 ทีม 400 กว่าคน โดยปักหลัก26จุดตรวจ กระจายทั่วกรุงเทพมหานคร รวมปริมณฑล จังหวัดนครปฐมและสมุทรปราการอีก2จุดบริการ เป้าหมายตรวจคัดกรอง 5 หมื่นราย คาดหมายว่าจะพบผู้ติดเชื้อ 5 พันราย เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล ซึ่งตอนนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากจนกลายเป็นเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในชุมชน

162857325846

แต่ละจุดตรวจวันนี้เปิดรับประชาชนในชุมชนโดยรอบ รวมถึงประชาชนบริเวณใกล้เคียงที่ Walk-in เข้ามาขอตรวจ
เราจะตรวจให้กับทุกคน เพราะเรามาเพื่อตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อทุกทีมกำลังขนสัมภาระ ล้อหมุน ไปยังพื้นที่จุดหมาย ตั้งแต่เวลา6.30น.

“ทีมแพทย์จากชนบท ได้ร่วมกับทีมภาคประชาชนในกทม. ทีมอาสาสมัคร ที่เข้ามาช่วยคัดกรองผู้ป่วย ซักประวัติ ให้คำแนะนำต่างๆ ขณะเดียวกันเมื่อผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เตียง ต้องกลับไปนอนรอที่บ้านก็จะมีทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอาสา ที่จะเข้ามาช่วยเช็คระบบ ติดตามผู้ป่วยโดยทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ วันละ 2 ครั้ง ช่วยหาเตียง และหายาฟาวิพิราเวียร์ให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งการทำงานในความเป็นจริง ทุกจุดมีความทะลักทุเล ไม่ได้สวยหรูอย่างตามภาพที่รัฐนำเสนอ แต่จะเห็นข่าวการเสียชีวิตที่บ้านทุกวัน ตราบใดที่ไม่มีรพ.รองรับผู้ป่วย” นพ.สุภัทร กล่าว

162857328287

  • ทุกรพ.ผู้ป่วยสีเหลืองสีแดงเต็ม

ผู้ป่วยวันละเพิ่ม 15,000 ราย ต้องการเตียงและดูแลทางการแพทย์ประมาณ 3,000 คน โดยเฉพาะในกทม. คาดว่าต้องการเตียง 1,000-1,500 เตียง แต่ตอนนี้ผู้ป่วยจะเอาเตียงรพ.ไหน เมื่อทุกรพ.มี ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดงเต็มไปหมด

นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่ายิ่งมีผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีเหลือง สีแดงจำนวนมาก ยิ่งเป็นโจทย์ยากของเมืองหลวง สิ่งที่จะทำให้ผ่านวิกฤตเหล่านี้ไปได้ คงต้องสู้อย่างเต็มที่ และต้องพยายามเปิดทุกพื้นที่ เป็นโรงพยาบาลสนามให้มากกว่านี้ นำค่ายทหาร พื้นที่ในกองทัพต่างๆ มาเป็นรพ.สนาม เปลี่ยนจากโรงเรียน สถานศึกษาในกทม. เป็นรพ.สนาม และเริ่มจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือมีปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดอาการความรุนแรงของโรค ไม่เป็นผู้ป่วยอาการหนัก

162747864798

  • วิสัยทัศน์กทม.ไม่เชื่อมโยงการทำงาน

“ทฤษฎีที่ทุกคนบอกว่าหาตรวจให้เจอไวดีที่สุด ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวให้กักตัวรักษาที่บ้าน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งในทางทฤษฎีนั้นดีมาก แต่ในการบริหารจัดการไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะการบริหารจัดการของภาครัฐ ศักยภาพและความเร็วในการจัดการของผู้บริหารประเทศ ไม่ได้รวดเร็วเท่ากับการแพร่ระบาดของโควิด 19” ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

ขณะที่วิสัยทัศน์ของกทม.เอง ยังไม่มีการเชื่อมโยงการทำงาน และไม่มีกำหนดธงอย่างชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไร ตอนนี้รัฐบาลต้องปักธงแล้วว่าจะกำหนดเพิ่มเติมอีก 1 แสนเตียง และไม่ใช่เตียงที่บ้าน เพราะขณะนี้ภาพรวมของกทม.ต้องการเตียง 50,000 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย

162747867119

จากการลงพื้นที่ ตรวจโควิด 19 ทั้ง 2 รอบ รอบละ 3 วัน จากทีมแพทย์100 กว่าคน สามารถคัดกรองได้ 50,000 คน

นพ.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า การทำงานของ ทีมแพทย์ชนบท จะเน้นการใช้เครือข่ายในการทำงาน โดยมีภาคประชาชนมาร่วมมากว่า 2 เท่า ทั้งช่วยลงทะเบียน แจ้งผล และช่วยทุกอย่าง ทำงานโดยไม่มีรถตรวจเชื้อชีวนิรภัย แต่ทำงานได้มากถึง 3-4 เท่า และทำงานไม่มีเวลาราชการ บางพื้นที่ตรวจคัดกรองถึงเที่ยงคืน มีธงชัดเจนว่าจะคัดกรองผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งธงแบบนี้ กทม.ไม่ชัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:  นายกฯ เร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่ม ระดมแผนส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา

                     เปิดแนวทางรักษา 'ผู้ป่วยโควิด 19' ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงสูงอายุ

                    'ตรวจโควิด' เช็คด่วน! กทม.เปิดปฏิทินตรวจเชิงรุก 3 เขต 26 ก.ค.- 1 ส.ค.นี้

  • คัดกรอง1ล้านเชื่อว่าพบผู้ป่วย1แสน

ดังนั้น กทม.ต้องเริ่มต้นในการกล้าประกาศธง ตั้งแต่การคัดกรอง ตรวจโควิด 19 ว่าจะต้องคัดกรองจำนวนเท่าไหร่ เช่น คัดกรองให้ได้ 1 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่า 1 ล้านคน หากพบผู้ป่วย 1 แสนคนหรือ 10% และแยกคนเหล่านี้มาจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ได้มาก เพราะผู้ป่วยโควิด 19 ประมาณ 80%จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ซึ่งสามารถรักษาอยู่ที่บ้านได้ และอีกประมาณ 20% ผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องการเตียง

“ตอนนี้มีแต่วัด มัสยิด ลานชุมชน ใต้ทางด่วน ข้างถนนที่จะเป็นจุดตรวจโควิด 19 แต่ไม่เคยเห็นการอนุญาตให้ใช้โรงเรียน หรือค่ายทหาร มาเป็นจุดตรวจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิธีคิด และการทำงาน หากรวมพลังอย่างเต็มที่ เตียง 20,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย ไม่น่าจะมีปัญหา ต้องทำให้ทุกคนที่เป็นผู้ป่วยโควิด 19 ได้รับการดูแล รักษา ซึ่งการดูแลไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล ใครที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวก็ต้องได้รับการดูแลที่บ้านอย่างดี ต้องมีธงชัด มีการเช็ตระบบใหม่” นพ.สุภัทร กล่าว

162747868664

  • ส่งผู้ป่วย 'กลับภูมิลำเนา' ดี แต่การปฎิบัติสวนทาง

นโยบายการจัดส่งผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนา เป็นการแก้ปัญหาที่ดีมาก เมื่อกทม.เตียงล้น และต่างจังหวัดก็มีศักยภาพในการช่วยดูแล แต่ทั้งนี้ ก็ต้องคำนึงถึงความยากลำบากในการเดินทาง ซึ่งบางคนต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และต้องดูความพร้อมของรพ.ปลายทางให้ชัดเจน

นพ.สุภัทร กล่าวด้วยว่าการบริหารจัดการในกทม.เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขทำเต็มที่ แต่อาจจะทำอะไรได้น้อย เพราะกทม.มีบุคลิกพิเศษ และเขตอำนาจไม่ได้ชัดเจน แตกต่างกับพื้นที่ในต่างจังหวัด รพ.ต่างจังหวัด

อย่าง โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ตอนแรกมี 40 เตียงในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ด้วยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็ขยายเตียงได้ 140 เตียง และตอนนี้มีการขอความร่วมมือไปยังโรงเรียน ค่ายทหารรวมกัน จัดตั้งรพ.สนามแห่งละ 100-150 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

162747871164

หากมากกว่านี้ก็จะขยายเตียงรองรับเพิ่มอีก แต่ทั้งหมดที่ทำได้ เพราะทุกคนในชุมชนให้ความร่วมมือกัน อีกทั้งได้ขอความร่วมมือกับภาคประชาชน อสม. ให้ความรู้ ติดตามสื่อสาร ให้ ผู้ป่วยโควิด หรือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถวัดความดัน เช็คระดับน้ำตาลได้ด้วยตนเอง ทุกคนต้องช่วยกัน

ผมเชื่อว่าถ้ามีการตรวจโควิด 19 ในกทม.ทุกคน จะมีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 5 แสนคน หรือ 1 ล้านคน ตอนนี้คนที่เดินไปเดินมากับเรา ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโควิดหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน ตอนนี้ คือ ช่วยกันดูแลผู้ป่วยโควิด คนป่วยโควิดไม่น่ากลัว ถ้าใส่หน้ากากให้ดี ล้างมือให้ ไม่แตะไม่สัมผัสกัน โอกาสเป็นโควิด 19 ต่ำกว่า ถ้าคนในชุมชน คอนโด คนข้างบ้านเป็นโควิด 19 คนที่ไม่เป็นโควิด 19 ต้องทำหน้าที่ ให้เขาโอนเงินให้เรา และเราไปซื้อข้าวซื้อน้ำให้เขา คอยสื่อสาร ช่วยเหลือดูแลกัน เพราะนี่จะเป็นทางรอดเดียว เราจะพึ่งรัฐอย่างเดียวไม่ได้”นพ.สุภัทร กล่าวทิ้งท้าย