โควิดเป็นเหตุ! 'หญิงท้อง'ฝากครรรภ์-ดูแลสุขภาพน้อยลง

โควิดเป็นเหตุ! 'หญิงท้อง'ฝากครรรภ์-ดูแลสุขภาพน้อยลง

"กรมอนามัย"เผยข้อมูล HDC ปี 2564 พบ "หญิงท้อง"ฝากครรภ์ ดูแลสุขภาพก่อนคลอดมีอัตราลดลง แนะเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือติดเชื้อ "โควิด-19"สามารถให้นมลูกได้ แต่ต้องป้องกัน

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ "หญิงตั้งครรภ์" หรือ "หญิงท้อง"ไม่กล้าไปรับบริการฝากครรภ์ เพราะจากข้อมูลของ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุขปี 2564 พบว่าร้อยละของหญิงตั้งครรภ์ได้รับบริการฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์ มีอัตราลดลงโดยพบมีการฝากครรภ์   ช่วงไตรมาส 1 ร้อยละ 85.5  ไตรมาส 2 ร้อยละ 76.7 และเดือนเมษายน ลดลงเหลือร้อยละ69.7

  • เผย"หญิงท้อง"ฝากครรภ์ดูแลสุขภาพต่ำกว่าเกณฑ์

นอกจากนี้พบว่าร้อยละของ "หญิงท้อง" ที่ได้รับการดูแลสุขภาพก่อนคลอดครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ ลดลงจากร้อยละ 80.6 เหลือเพียงร้อยละ 53.4      เป็นผลให้ "หญิงตั้งครรภ์"มีการ "ฝากครรภ์"ลดน้อยลงจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้เช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการติดตามพัฒนาของทารกในครรภ์ในช่วงที่แม่ตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะทารกในครรภ์ที่พบว่า "แม่ติดเชื้อโควิด-19" ต้องเข้าถึงบริการ "ฝากครรภ์"เพื่อตรวจและเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่สามารถยืนยันได้ว่ามีการแพร่เชื้อ "โควิด-19"จากแม่สู่ลูกในครรภ์ แต่มีรายงานการติดเชื้อ"โควิด-19"ของทารกแรกเกิดร้อยละ 4 โดยคาดว่าเกิดจากการติดเชื้อในช่วงหลังคลอด จากการสัมผัสสารคัดหลั่งจาก แม่ที่ติดเชื้อ

  • แนะ "หญิงท้อง"ให้นมลูกได้ แต่ต้องป้องกัน 

จากข้อมูล "กรมอนามัย"ที่ได้ทำการสำรวจการติดเชื้อ"โควิด-19"ในหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดภายใน 6 สัปดาห์ ในช่วงการระบาดระลอก 2 ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2564 พบว่ามี "หญิงตั้งครรภ์"ที่ติดเชื้อโควิดจำนวน 60 ราย โดยร้อยละ 81.67 เป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว พบการติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ ร้อยละ 90 และติดเชื้อหลังคลอดร้อยละ 10 ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.67 ไม่มีอาการและจากการรายงานยังไม่พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ"โควิด-19"มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ในจำนวนนี้พบทารกแรกเกิดติดเชื้อเพียง 4 ราย และมีจำนวน 2 รายพบติดเชื้อตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์และไม่มีอาการ

ทางด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย กล่าวว่า           กรณี "หญิงตั้งครรภ์"ที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ"โควิด-19"สามารถให้นมลูกได้หรือไม่นั้น จากข้อมูลขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเชื้อ"โควิด-19"สามารถติดผ่านทางรกหรือทางน้ำนมได้ กรณีแม่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ"โควิด-19"จึงสามารถให้นมลูกได้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) มีคำแนะนำว่า หากแม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มากสามารถให้นมจากเต้าได้ก็ควรทำ

แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด โดยก่อนให้นมลูกทุกครั้งควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ำสบู่ และล้างมือด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที รวมทั้งสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ให้นมบุตร ห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปาก รวมถึงการหอมแก้มลูกด้วย แต่ในกรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง เช่น ไอมาก แต่ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมได้ ควรให้พ่อหรือผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูกแทน ซึ่งการบีบน้ำนมอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้แม่ยังคงสภาพในการให้นมแก่ลูกได้เมื่อหายป่วยแล้ว ส่วนทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยงจะต้องมีการแยกตัวออกจากทารกอื่นและต้องสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน