ครม. เห็นชอบแก้กฎหมายอาญา ให้หญิงตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ 'ทำแท้ง' ได้

ครม. เห็นชอบแก้กฎหมายอาญา ให้หญิงตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ 'ทำแท้ง' ได้

ครม. เห็นชอบแก้กฎหมายอาญา ให้หญิงตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ "ทำแท้ง" ได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้หญิงและเด็ก

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.63  นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูก หรือ "ทำแท้ง" โดยมีที่มาคือ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกมีความผิดอาญานั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 คือ 1. กำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ มีความผิดและต้องรับโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ให้เกิดความสมดุลกัน 2. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีต่างๆ ที่จำเป็นและสมควรต้องทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง และกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เพื่อความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้ จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ "ทำแท้ง" โดยเด็ดขาด ซึ่งการกำหนดอายุครรภ์ดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นของแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุดในการทำแท้ง ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำแท้งเกิดอาการแทรกซ้อนและเป็นอันตรายแก่ชีวิต นอกจากนี้ ได้มีการแก้ไขลดอัตราโทษ เพื่อให้เหมาะสมกับการที่ผู้ทำแท้งต้องได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษสูงอีก โดยมีรายละเอียดดังนี้

‘มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับมาตรา 305 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีที่จำเป็นและสมควรต้องทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

‘มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือ 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด 1. จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น 2. จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง 3. หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ 4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

ทั้งนี้ ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ 1 ปี หากแก้ไขไม่แล้วเสร็จ มาตรา 301 จะไม่มีผลบังคับใช้โดยปริยาย เพราะกฎหมายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ "ทำแท้ง" เป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์อย่างมีดุลยภาพ อีกทั้งสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรการทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการไปหาหมอเถื่อนเพื่อทำแท้ง ซึ่งผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และในส่วนที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งทารกในครรภ์ที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดออกมาแล้วพิการแต่กำเนิด จะช่วยลดภาวะตึงเครียดให้กับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูบุตรที่มีสภาพพิการได้