ถอดบทเรียน 1 ทศวรรษ ‘สงครามซีเรีย’

ถอดบทเรียน 1 ทศวรรษ ‘สงครามซีเรีย’

เปิดผลสำรวจกลางซากปรักหักพังหลัง "สงครามซีเรีย" ที่ทิ้งบาดแผลให้หนุ่มสาวชาว "ซีเรีย" นับล้านต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิตหลังผ่าน 10 ปี แห่งความสูญเสีย

ในขณะที่วิกฤตการณ์ใน ซีเรีย กำลังย่างเข้าสู่ช่วง 2 ทศวรรษ ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างของ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) จากชาวซีเรีย 1,400 คน อายุระหว่าง 18-25 ปี ที่อาศัยอยู่ในประเทศซีเรีย เลบานอน และ เยอรมนี พบว่าประเด็นสำคัญที่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่พูดถึงคือ การพลัดพรากจากครอบครัวและเพื่อน ความลำบากด้านเศรษฐกิจ ความวิตกกังวล ความไร้เป้าหมาย และ ผลกระทบด้านจิตใจจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นและความแตกแยกที่ดำเนินมายาวนาน

“มันเป็นทศวรรษแห่งความสูญเสียที่ร้ายแรงสำหรับชาวซีเรียทุกคน โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยเรื่องราวการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก โอกาส และ แม้แต่อนาคตของตัวเอง รายงานการสำรวจนี้จึงเป็นเสมือนหนึ่งภาพจำลองของคนรุ่นหนึ่งที่ต้องสูญเสียช่วงเวลาของการเป็นหนุ่มสาวให้กับความขัดแย้ง” โรเบิร์ต มาร์ดินี่ ผู้อำนวยการใหญ่ ICRC ประจำนครเจนีวากล่าว

161534769712

161534770147

ในประเทศที่มีประชากรอายุต่ำกว่า 25 ปีเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ผลสำรวจได้สะท้อนให้เห็นถึงความอดทนที่คนนับล้านต้องเผชิญในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

ประชากรวัยหนุ่มสาวระบุว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือ โอกาสทางเศรษฐกิจและงาน ตามมาด้วยเรื่องของสาธารณสุข การศึกษา และ การสนับสนุนด้านจิตวิทยา ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเกือบร้อยละ 30 ใน “ซีเรีย” รายงานว่าพวกเธอไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวเลยแม้แต่น้อย หนุ่มสาวซีเรียในเลบานอนระบุว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นอันดับแรก

ผลกระทบทางสุขภาพจิตจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเนื่องจากในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาคนหนุ่มสาวใน “ซีเรีย” ร้อยละ 54 มีปัญหาด้านการนอนหลับ ร้อยละ 73 มีปัญหาด้านความวิตกกังวล ร้อยละ 58 เป็นโรคซึมเศร้า ร้อยละ 46 รู้สึกโดดเดี่ยว ร้อยละ 62 มีความผิดหวังและอีกร้อยละ 69 รู้สึกเครียด ซึ่งทั้งในซีเรีย เลบานอน และ เยอรมนี ที่ ICRC ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง คนหนุ่มสาวชาวซีเรียระบุว่าพวกเขาต้องการการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตเป็นอันดับต้นๆ

161534769928

161534770329

ฟาบริซิโอ คาร์โบนี่ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคตะวันออกกลางประจำนครเจนีวากล่าว ว่า “คนหนุ่มสาวเหล่านี้กำลังเผชิญกับความเจ็บปวดมากกว่าสองทศวรรษ สิ่งที่สาหัสที่สุดสำหรับสถานการณ์ของพวกเขาก็คือต้องสังเวยวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวให้กับความรุนแรง คนรุ่นนี้มีแนวโน้มที่จะต้องแบกรับความรับผิดชอบและงานในการฟื้นฟู ชีวิตของพวกเขาในวัยเด็กจะจารึกความขัดแย้งครั้งนี้ไว้”

ความขัดแย้งใน “ซีเรีย” คือความโหดร้ายที่ยากจะลืมเลือนสำหรับพลเรือน มันเต็มไปด้วยภาพของเมืองน้อยใหญ่ที่ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ประชากรจำนวนมหาศาลต้องย้ายที่อยู่และวิกฤตผู้อพยพที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก ในปีที่ผ่านมาประชากรหลายล้านคนต้องเผชิญกับความยากจนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งและผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชากร 13.4 ล้านคนจากทั้งหมด 18 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

อย่างไรก็ตามผลการสำรวจก็ยังชี้ว่าคนหนุ่มสาวยังเหล่านี้ยังคงมีความหวังกับอนาคต โดยในอีก 10 ปีข้างหน้าพวกเขาหวังจะเห็นความปลอดภัย เสถียรภาพ โอกาสที่จะสร้างครอบครัว และ มีงานที่รายได้ดีๆ เข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ราคายุติธรรม และ หวังว่า “สงครามซีเรีย” ที่เกิดขึ้นจะสิ้นสุดลงเสียที