การระงับข้อพิพาท ‘คดีครอบครัว’

การระงับข้อพิพาท ‘คดีครอบครัว’

เปิดวิธีระงับข้อพิพาทสำหรับคดีครอบครัว ตามหลักของกระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอนอย่างไร? และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง?

ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีครอบครัว มิได้มีเพียงแต่การฟ้องคดีเพื่อตัดสินข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทได้ หากแต่ยังมีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในหลายรูปแบบที่สามารถช่วยให้คู่พิพาทได้เลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาท อีกทั้งยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดี ตกลงกันอย่างฉันมิตรและสร้างความเข้าใจให้กันได้ 

การระงับข้อพิพาททางเลือกจะเริ่มต้นจากการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นกระบวนการแรกสุดเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างตัวบุคคล แต่หากการพูดคุยทั้งสองฝ่ายไม่เป็นผล จึงอาจต้องมีบุคคลที่สามที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับเข้าช่วยเป็นตัวกลางประสานให้ทั้งสองฝ่ายบอกความต้องการและมุ่งหาทางออกร่วมกัน กระบวนการระงับข้อพิพาทดังกล่าวนี้เรียกว่า การไกล่เกลี่ย หรือการประนอม 

สำหรับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในครอบครัวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงควรเป็นไปด้วยความเข้าใจและรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันให้ได้มากที่สุด โดยที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการประนอมไว้ในหมวด 13 การพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัว เพื่อให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมในข้อพิพาทโดยคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันของครอบครัวเป็นหลัก

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีครอบครัวเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาทที่สำคัญที่มาช่วยกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี ที่ต้องใช้เวลา เสียค่าใช้จ่ายมาก และทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวถดถอย กฎหมายเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อน ซึ่งบิดา มารดา และบุตรไม่สามารถตัดขาดจากกันได้โดยสิ้นเชิง รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว 

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีการพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จึงกำหนดให้ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีครอบครัวที่มีข้อพิพาทให้ศาลตั้งผู้ประนีประนอมคดีครอบครัว เพื่อไกล่เกลี่ยให้คู่ความในคดีครอบครัวได้ประนีประนอมกัน และมีโอกาสเจรจาและตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการประนีประนอมยอมความ

โดยมีผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวเป็นคนกลาง ผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้ประนอม ได้แก่ ผู้พิพากษาในศาลต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน รวมทั้งบุคคลหรือคณะบุคคลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยและแต่งตั้งให้เป็นผู้ประนีประนอมประจำศาล ซึ่งเป็นผู้ที่มีความพร้อมและสมัครใจที่จะทำหน้าที่ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่อคติ และสามารถให้ความเป็นธรรมกับคู่ความได้ถูกต้องตรงตามความประสงค์ ช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้ข้อพิพาททั้งหลายยุติลงอย่างฉันมิตร หน้าที่หลักคือให้มีการประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่มีหน้าที่ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทนั้นๆ

สำหรับผลของการไกล่เกลี่ยนั้น หากเป็นกรณีที่ประสบผลสำเร็จ มีการถอนฟ้องหรือคู่ความประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ให้ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจัดให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นและเสนอศาลเพื่อพิจารณา เมื่อศาลเห็นว่าสัญญาดังกล่าวไม่ฝ่าฝืน หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ยังมีกรณีที่ศาลอาจจะไม่พิพากษาแต่กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้คู่ความทดลองปฏิบัติตามสัญญาก่อนก็สามารถทำได้

ข้อดีสำคัญของวิธีการไกล่เกลี่ยคือ สามารถรักษาความลับของคู่พิพาทได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการระงับข้อพิพาทเป็นตัวของคู่พิพาทเองและบุคคลภายนอกจะมีเพียงแต่ผู้ไกล่เกลี่ยเท่านั้น ซึ่งโดยจรรยาบรรณแล้วไม่สามารถนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยต่อบุคคลอื่นได้ซึ่งเหมาะกับลักษณะของคดีครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียนเห็นว่าการเลือกใช้วิธีการฟ้องคดีควรเป็นวิธีการสุดท้ายที่คู่พิพาทจะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ขณะที่การนำการระงับข้อพิพาททางเลือก ที่เรียกว่าการไกล่เกลี่ยหรือการประนอมมาใช้จะมีความเหมาะสมกว่า ด้วยกระบวนการที่รักษาความลับและมุ่งประสานความสัมพันธ์ให้จบด้วยความเข้าใจและยอมรับในสิ่งแต่ละฝ่ายร้องขอ แม้ผลลัพธ์จะออกมาว่าฝ่ายใดได้ประโยชน์มากหรือน้อย 

แต่ขอให้มั่นใจว่าทุกคนตั้งใจที่จะเลือกรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวคงอยู่ มากกว่าเลือกที่จะให้ตนเองชนะแต่เพียงอย่างเดียว บางครั้งการไกล่เกลี่ยอาจประสานรอยร้าวในความสัมพันธ์ให้กลับมาดีดังเดิมได้ด้วย