4 คำถาม จาก ดร.แดน เพื่อการใช้ชีวิตปกติและปลอดภัยจากโควิด

4 คำถาม จาก ดร.แดน เพื่อการใช้ชีวิตปกติและปลอดภัยจากโควิด

ในระหว่างที่รอการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จและใช้ได้ทั่วโลก ประกอบกับรัฐบาลได้คลายล็อกดาวน์ เพื่อให้กิจการและกิจกรรมบางประเภทได้เปิดดำเนินการ ดังนั้นเราจะใช้ชีวิตอย่างปกติและปลอดภัยจากโควิด-19 มากที่สุดได้อย่างไร?

ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยา ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 12-18 เดือน

ในมุมมองของผม ระหว่างที่รอการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จและใช้ได้ทั่วโลก เราจำเป็นต้องยอมคลายการล็อกดาวน์ ให้คนในสังคมกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติให้มากที่สุด ตราบที่ไม่ทำให้การระบาดรุนแรงอีก การล็อกดาวน์จะทำได้ไม่นานนัก เพราะเศรษฐกิจจะเสียหายหนักเกินกว่าจะให้คนส่วนใหญ่อยู่รอดได้

คำถาม คือ ในระหว่างที่รอวัคซีน เราจะใช้ชีวิตอย่างปกติและปลอดภัยจากโควิดมากที่สุดได้อย่างไรผมคิดว่า มีคำถาม 4 ข้อที่เราต้องตอบให้ได้ ซึ่งได้แก่

คำถามที่หนึ่ง ชุดทดสอบโควิด-19 (Test Kit) เราสามารถผลิตชุดทดสอบโควิด ที่ง่าย สะดวก ได้ผลตรวจรวดเร็ว แม่นยำ ราคาถูก และตรวจเอง เช่น จากน้ำลาย เหงื่อ ฯลฯ ได้หรือไม่?

ในช่วงเริ่มต้น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบตรวจเชื้อผู้ที่เข้าข่ายและยืนยันผู้ป่วย ประชาชนยังไม่สามารถหาตรวจเองได้เพราะชุดทดสอบเร็วที่มีจำหน่ายอยู่นั้นจะตรวจพบเชื้อ เฉพาะคนที่เริ่มมีอาการหรือได้รับเชื้อมาหลายวัน แต่คนที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการจะตรวจไม่พบ ซึ่งจะกลายเป็นพาหะได้

การที่ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ตรวจ ย่อมมีความจำกัด ไม่สามารถตรวจได้อย่างทั่วถึง การคลายข้อจำกัด เพื่อใช้ชีวิตอย่างปกติย่อมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดครั้งใหม่เพราะไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ทั่วถึงและทันเวลา

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผมมีโอกาสได้พูดเรื่องนี้และเขียนบทความเตรียมเผยแพร่ไม่นานนัก ผมได้ทราบข่าวว่าคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนานวัตกรรมการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทางน้ำลายได้สำเร็จแล้ว ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสะดวก และเก็บตัวอย่างประชากรจำนวนมากได้รวดเร็ว ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะ ชุดทดสอบที่ตรวจง่าย รู้ผลเร็ว แม่นยำ ราคาถูก และตรวจได้กว้างขวาง จะเป็นระบบป้องกันที่สร้างความมั่นใจว่าโอกาสการแพร่ระบาดในวงกว้างจะไม่เกิดขึ้นตามแนวทางที่ผมเสนอไว้

คำถามที่สอง ยารักษาโควิด-19 – เราสามารถผลิตยารักษาโควิด-19 ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล สำหรับไวรัสโควิด-19 ตัวแม่และทุกสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์หรือยัง?

ยารักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็น ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ใช้ยารักษาที่แตกต่างกัน เช่น ไทย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ใช้ยาอาวิแกนหรือยาฟาวิพิลาเวียร์ในไทยนำมาใช้ควบกับ ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ที่ใช้รักษาไวรัสเอดส์ส่วนสหรัฐฯใช้ยาเรมเดซิเวียร์ที่พัฒนามาจากยารักษาการติดเชื้ออีโบลา และมีการทดลองใช้ยารักษาโรคมาลาเรีย2 ชนิดมารักษาโควิด-19 ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ยารักษาโรคโควิด-19 โดยตรง ขณะนี้มีเพียงยาฟาวิพิลาเวียร์ที่ขึ้นทะเบียน ดังนั้นคำถามสำคัญคือ เรามียารักษาโรคไวรัสโควิด-19 ตัวแม่และทุกสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์แล้วหรือไม่? มียาที่รักษาได้ในทุกต้นเหตุและอาการของโรคหรือไม่? และมียารักษาเพียงพอหรือไม่ หากมีการระบาดอีกหลายระลอก?

คำตอบของคำถามเหล่านี้ จะสร้างความมั่นใจว่า ถ้าเกิดการระบาดขึ้นระลอกใดก็ตาม คนที่ติดเชื้อจะไม่เป็นอันตราย เพราะมียารักษาทันเวลาและไม่ขาดแคลน

คำถามที่สาม วัคซีนป้องกันโควิด-19–ถ้าพัฒนาวัคซีนได้แล้ว จะสามารถใช้ได้กับไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์หรือไม่?

ไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสสายพันธุ์ที่อุบัติใหม่ จากกลุ่มโคโรนาไวรัส ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่พบดั้งเดิม เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด และทางเดินหายใจ และสายพันธุ์ที่อุบัติใหม่ ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรค SARS โรค MERS ซึ่งทำให้ทางเดินหายใจอักเสบเฉียบพลัน และสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด คือ ไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19

ไวรัสโคโรนา เป็นไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ได้ง่าย ซึ่งไวรัสโคโรนา 2019 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ ก็มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจากที่ผมขอเรียกว่า “โควิด-19 ตัวแม่” แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า กลายพันธุ์ทั้งหมดแล้วกี่สายพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติบางท่านบอกว่าอาจเกิด 33 สายพันธุ์แล้วจากโควิด-19

ดังนั้น คำถามคือ ในการพัฒนาวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดครั้งนี้จะสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ในทุกสายพันธุ์หรือไม่ หรือต้องพัฒนาวัคซีนหลายตัว (vaccines)พร้อมกันใน 1-2 ปีนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับไวรัสในแต่ละสายพันธุ์ จึงมั่นใจว่าจะสามารถยุติการแพร่ระบาดได้อย่างแท้จริง

คำถามที่สี่ภูมิคุ้มกันโควิด-19 –คนที่หายป่วยแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้หรือไม่?

ปัจจุบันมีแพทย์บางส่วนกล่าวว่า พลาสมาของผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 มีประโยชน์มากในการใช้รักษาผู้ป่วยที่อาการรุนแรง ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยเปรียบเสมือนเซรุ่มใช้รักษาโรค แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า คนที่เคยป่วยและรักษาหายแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันจริงหรือไม่ หรือต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงมีภูมิคุ้มกัน และภูมิคุ้มกันนั้นหากมีจะอยู่นานเท่าไร การกลับมาเป็นซ้ำของผู้ป่วยในเกาหลีใต้หลายราย ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงแล้วร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เองหรือไม่?

ถ้าไม่ แสดงว่าจะเสี่ยงมากหากปล่อยให้เกิดการระบาด ด้วยหวังให้เกิด Herd Immunity เมื่อมีผู้คนติดเชื้อจำนวนมาก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายตัวเองได้เพราะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าจะต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้อ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเท่าไร และไม่มั่นใจว่าประชาชนจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายตัวเองได้

ดังนั้น ทางที่เราจะปลอดภัย ไม่กลับเป็นซ้ำ ในช่วงเวลาการรอคอยวัคซีน คือ การลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ การเพิ่มระยะห่างทางกายภาพ การตรวจสอบป้องกันตนเอง การล้างมืออย่างถูกวิธีบ่อยๆ การไม่รวมกลุ่มคนจำนวนมากแบบไม่ป้องกันตน ฯลฯ

การตอบคำถามเหล่านี้ จะช่วยให้เรามองเห็นภาพว่า ในช่วงระยะเวลาแห่งการรอคอยวัคซีนและยารักษาโควิด-19 เราควรใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย ทั้งจากไวรัสโควิด-19 และจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป