ก.แรงงาน เทรน "ทักษะแรงงาน" ป้อน ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ตั้งเป้า 5,000 คน

ก.แรงงาน เทรน "ทักษะแรงงาน" ป้อน ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ตั้งเป้า 5,000 คน

กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขานรับนโยบายฝึก "ทักษะแรงงาน" ด้านการท่องเที่ยว หวังแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ป้อนสถานประกอบกิจการในพื้นที่ "ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้" ปี 2565 ตั้งเป้าฝึกอบรมกว่า 5,000 คน ฝึกจบแล้ว 4,400 คน

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติเริ่มเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยได้ประกาศผ่อนปรนมาตราการด้านการท่องเที่ยว ทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้ ส่งผลให้สถานประกอบกิจการ เช่น กิจการด้านการโรงแรม ที่พักอาศัย ร้านอาหาร ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว

 

เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานที่สนใจทำงานในธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ให้มีความพร้อมในการทำงาน ซึ่งในปี 2565 ดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานด้านการท่องเที่ยวไปแล้วจำนวน 4,400 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565) หลักสูตรที่จัดฝึกอบรมนั้น มีทั้งด้านการเพิ่มทักษะฝีมือในสาขาอาชีพเฉพาะ อาทิ บาริสต้ามืออาชีพ นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (หัตถบำบัด)

 

นอกจากนี้ ยังฝึกอบรมด้านภาษา ให้แก่แรงงานที่ทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวอีกด้วย เพื่อทบทวนทักษะให้มีความมั่นใจในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หลังจากที่ไม่ได้ใช้ทักษะด้านภาษามาเป็นเวลานาน

 

ก.แรงงาน เทรน \"ทักษะแรงงาน\" ป้อน ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ตั้งเป้า 5,000 คน

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า การฝึกทักษะให้แก่แรงงานเพื่อป้อนตลาดด้านการท่องเที่ยวนั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานของกรมที่มียุทธศาสตร์จังหวัดส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมประชาสัมพันธ์ความต้องการรับแรงงานเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ให้แก่แรงงานได้รับทราบด้วย ซึ่งอาจมีแรงงงานต้องการไปทำงานในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพราะจะทำให้มีรายได้ที่สูงขึ้นด้วย เช่น แรงงานในภาคอีสาน ต้องการไปทำงานในภาคใต้ หรือะภาคเหนือ เป็นต้น

 

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือแรงงานที่มีทักษะด้าน นวดไทย หรือนวดสปา มักจะไปทำงานในจังหวัดภาคใต้เป็นส่วนมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสนใจนวดไทยและนวดสปา มักใช้บริการดังกล่าวเป็นจำนวนมากทำให้ผู้ประกอบอาชีพมีรายได้ดีเฉลี่ยถึงเดือนละ 20,000 -30,000 บาท

 

อีกทั้ง ผู้ประกองการด้านนวด-สปา มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านนวดเข้ามาทำงานอีกเป็นจำนวนมาก ค่าจ้างพนักงานจึงสูงขึ้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงเร่งพัฒนาทักษะในด้านดังกล่าว ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้แรงงานมีทักษะฝีมือ ก้าวสู่การมีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง สุดท้าย คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะนั่นคือการประเมินถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

 

ก.แรงงาน เทรน \"ทักษะแรงงาน\" ป้อน ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ตั้งเป้า 5,000 คน

คุณลำไย  จินดา (จิน) อายุ 45 ปี เจ้าของร้านจินดานวดเพื่อสุขภาพ เล่าว่า  เป็นคนจังหวัดขอนแก่น เคยมาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ชอบทะเลและธรรมชาติและมองเห็นช่องทางประกอบอาชีพ จึงเลือกใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะภูเก็ต จึงเริ่มต้นสมัครเป็นผู้ช่วยนวดแผนไทยตามร้านทั่วไป ช่วงวันหยุดและมีเวลาว่างก็จะหาความรู้เพิ่มเติม จึงสนใจเข้าอบรมนวดแผนไทยและสมัครเข้าฝึกอบรมที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต

 

ผ่านอบรมหลายหลักสูตร เช่น นวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ เทคนิคการนวดไทย การนวดหน้าเพื่อความงาม การนวดเพื่อปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย เป็นต้น ทำให้ตนได้รับความรู้ มีทักษะและเทคนิคการนวด และผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขา นวดไทย ระดับ 1 แล้ว ซึ่งความรู้ในแต่ละหลักสูตรสามารถนำมาใช้ในการให้การบริการแก่ลูกค้าได้ดีมาก สร้างความประทับใจ ทำให้มีลูกค้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

 

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หรือ สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4