"โอมิครอน" ป่วยปอดอักเสบน้อยกว่าเดลตา 5 เท่า แต่กลุ่ม 608 ยังน่าห่วง

"โอมิครอน" ป่วยปอดอักเสบน้อยกว่าเดลตา 5 เท่า แต่กลุ่ม 608 ยังน่าห่วง

"หมอนิธิพัฒน์" ชี้โควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ป่วยปอดอักเสบน้อยกว่า "สายพันธุ์เดลตา" 5 เท่า แต่กลุ่มเสี่ยง 608 ยังน่าห่วง ย้ำเร่ง ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วยลดป่วยหนัก เสียชีวิต

วันนี้ (15 ก.ค.2565) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด -19 ว่า จากรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 หรือ  "ศบค." ที่รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในโรงพยาบาลราวหมื่นคน ปอดอักเสบประมาณ 800 ราย  ส่วนยอดผู้ติดเชื้อรักษาแล้วดูแลตัวเองที่บ้านคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 หมื่นราย

 

"ซึ่งสัดส่วนที่เป็นปอดอักเสบถือว่าค่อนข้างน้อย ประมาณ 8% ของคนที่เข้ารพ. ถ้าเทียบกับสมัยการระบาดของสายพันธุ์เดลตาจะพบผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณ 30-40% ดังนั้น การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนล่าสุด ถือว่าทำให้มีสัดส่วนผู้ป่วยปอดอกเสบน้อยกว่า เดลตาประมาณ 5 เท่า" 

 

ความรุนแรงโอมิครอน เดลตา ไม่ต่างกัน

 

ทั้งนี้ หากถ้าเทียบความรุนแรงของภาวะ ปอดอักเสบ แล้วนั้น ไม่แตกต่างกันระหว่างสายพันธุ์โอมิครอน และเดลตา แต่สายพันธุ์ โอมิครอน รอบนี้ คนที่ปอดอักเสบส่วนใหญ่เป็นคนที่มีสุขภาพไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เป็นกลุ่ม 608 และกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดด้วยเหตุผลต่างๆ และอีกประมาณครึ่งหนึ่งอาจจะได้รับวัคซีน 1 เข็มบ้าง 2 เข็มบ้าง ที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมีน้อยมาก”

 

ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จึงขอให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากเพียงพอเพื่อป้องกันการป่วยหนัก เสียชีวิต

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ศูนย์จีโนม รพ.รามาฯ คาด "โอมิครอน" BA.2.75 อาจระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก

ข้อมูลเบื้องต้นในไทยโควิด19 สายพันธุ์ BA.4/BA.5 น่าจะรุนแรงกว่า BA.2

สธ. แจง "โอมิครอน" BA.4 / BA.5 ไม่มีข้อมูลรุนแรงขึ้น แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

ไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 43.5%

 

จากรายงานของ ศบค. จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. 2564 - 14 ก.ค. 2565) รวม 140,651,239 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น 

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 57,056,074 ราย 82%
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 53,327,366 ราย 76.7%
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 30,267,799 ราย 43.5%

 

ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 14 กรกฎาคม 2565

ยอดฉีดทั่วประเทศ 30,920 โดส

  • เข็มที่ 1 : 1,854 ราย
  • เข็มที่ 2 : 2,625 ราย
  • เข็มที่ 3 : 26,441 ราย

 

\"โอมิครอน\" ป่วยปอดอักเสบน้อยกว่าเดลตา 5 เท่า แต่กลุ่ม 608 ยังน่าห่วง

 

ผู้สูงอายุ ฉีดเข็มกระตุ้น 47.8%

 

ทั้งนี้ เมื่อดูผลการให้บริการ วัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 12,704,543 ราย พบว่า 

  • ฉีดเข็มที่ 1 สะสม 84.5% 
  • ฉีดเข็มที่ 2 สะสม 80.6%
  • ฉีดเข็มที่ 3 สะสม 47.8%

 

\"โอมิครอน\" ป่วยปอดอักเสบน้อยกว่าเดลตา 5 เท่า แต่กลุ่ม 608 ยังน่าห่วง

ไทยอยู่ในการระบาด โควิดระลอก 6 

 

ข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ในประเด็นโควิด-19 ซึ่งการระบาดระลอกนี้ นับเป็น ระลอกที่ 6 เป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน BA.5

 

หากย้อนไปดู การระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 ที่สนามมวยและสถานบันเทิง เป็นจุดเริ่มต้น มีผู้ป่วยเป็นหลักสิบ สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น

การระบาดระลอกที่ 2 เกิดเริ่มต้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ในแรงงานต่างด้าว กลางเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ป่วยเป็นหลักร้อยต่อวัน สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ G

การระบาดรอบที่ 3 เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2564 เริ่มจากสถานบันเทิงที่ทองหล่อ โดยนำเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ หรือต่อมาเรียกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า มีผู้ป่วยเป็นหลักพัน ต่อวัน

การระบาดระลอกที่ 4 เกิดขึ้นหลังจากการระบาดด้วยสายพันธุ์แอลฟาเริ่มลดลง ก็มีสายพันธุ์อินเดีย หรือที่เรียกว่าสายพันธุ์เดลต้า เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น และอยู่จนถึงปลายปีจึงเริ่มลดลง

การระบาดในระลอกที่ 5 เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ 2565 ด้วยสายพันธุ์โอมิครอน โดยเริ่มจาก BA. 1 แล้วตามด้วย BA.2 มีผู้ป่วยหลายหมื่นคนต่อวัน เมื่อค่อยๆลดลง และลดลงมาจนถึงต้นเดือนมิถุนายน

 

พอกลางเดือนมิถุนายน ก็มี การระบาดระลอกใหม่เป็นรอบที่ 6 ที่เป็นสายพันธุ์ BA.5 และในช่วงนี้ เกิดการระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า ขณะนี้ น่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่หลักหมื่น และมีการนอนโรงพยาบาล ตามตัวเลขที่ประกาศ ประมาณ 2,000 คน เสียชีวิต 20 คน หรืออัตราการเสียชีวิต น่าจะอยู่ที่หนึ่งในพันของผู้ติดเชื้อ น้อยลงกว่าการระบาดในระลอกแรกๆ

 

ประเทศไทย ติดเชื้อ ป่วยหนัก เสียชีวิต ยังต่ำ

 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอธิบายผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics การระบาดของ BA.4 / BA.5 ในประเทศไทยหากเทียบอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้เจ็บป่วยอาการรุนแรง และผู้เสียชีวิต กับประเทศอื่น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คงต้องรออีกระยะถึงจะสรุปได้ว่าจะมีผู้เจ็บป่วย เสียชีวิตเหมือนในช่วงการระบาดของเดลตาหรือไม่

 

จากการติดตามกราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตจาก การระบาดของ BA.4/BA.5 เว็บไซต์ ourworldindata  พบกราฟไม่ชันและพีกไม่สูงเท่ากับเดลตา หรือ BA.1/BA.2 ที่มีการระบาดผ่านมาในอดีต

 

\"โอมิครอน\" ป่วยปอดอักเสบน้อยกว่าเดลตา 5 เท่า แต่กลุ่ม 608 ยังน่าห่วง  

เร่งหาวัคซีนเจน 2 ป้องกันกลุ่มเสี่ยง

 

ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่มีกลุ่มผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศเกาหลีใต้ หรือที่ฮ่องกง ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะมีจำนวนผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงต้องเข้ารักษาใน รพ. เพิ่มมากขึ้นจนระบบสาธารณสุขอาจรองรับไม่ได้ ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละประเทศอาจต้องเร่งพิจารณาหาวัคซีนเจนเนอเรชันที่สองที่ใช้โอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอย่างน้อย BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ตั้งต้นในการผลิตวัคซีน

 

สำรองยา "ยาฟาวิพิราเวียร์" 25 ล้านเม็ด

 

สำหรับ ข้อมูลยาฟาวิพิราเวียน จาก องค์การเภสัชกรรม พบว่า ได้มีการบริหารจัดการสำรอง "ยาฟาวิพิราเวียร์" (Favipiravir)  เพื่อรองรับกับสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19  จำนวน 25 ล้านเม็ด  โดยได้ดำเนินการจัดส่งกระจายตามการจัดสรรให้กับหน่วยบริการแม่ข่ายตามการจัดสรรของศูนย์ PHEOC  อย่างต่อเนื่องทุกวันไม่เว้นวันหยุด หลังจากนั้นหน่วยงานแม่ข่ายจะทำการบริหารจัดการและกระจายให้แก่หน่วยบริการลูกข่ายในแต่ละพื้นที่ต่อไป  

 

ทั้งนี้ได้ดำเนินการ จัดส่งแล้วจำนวน 3.7 ล้านเม็ด  ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 21.3 ล้านเม็ด ทยอยส่งมอบพื้นที่ได้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป รวมทั้งสั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น 

 

“ยาโมนูลพิราเวียร์” 5 ล้านแคปซูล

 

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการการจัดหา “ยาโมนูลพิราเวียร์”  (Molnupiravir) จำนวน 5 ล้านแคปซูล  ได้ส่งมอบให้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แล้วจำนวน 2 ล้านแคปซูล เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 อีก 3 ล้านแคปซูล อยู่ระหว่างจัดหา คาดว่าสามารถส่งมอบได้ไม่เกินปลายเดือนกรกฎาคม 2565

 

สถานการณ์ยาคงเหลือ

 

ณ วันที่  2 ก.ค. 2565 ประกอบด้วย

  • ยาฟาวิพิราเวียร์ 7,192,268 เม็ด
  • ยาโมลนูพิราเวียร์ 4,092,423 เม็ด
  • ยาเรมเดซิเวียร์ 38,691 ไวอัล(vial)

 

ปลายเดือน มิ.ย. มีปริมาณการใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ อยู่ที่ราว 7 แสนเม็ดต่อวัน ขณะที่ช่วงสูงสุดเมื่อกลางเดือน มี.ค.อยู่ที่ 2.4 ล้านเม็ดต่อวัน ยาโมลนูพิราเวียร์ ช่วงปลายเดือนมิ.ย.ราว 8.9 แสนเม็ดต่อวันเป็นช่วงสูงสุด และยาเรมเดซิเวียร์ ราว 1,400 ไวอัล ส่วนยาแพกซ์โลวิดนั้น ประเทศไทยจัดหาสำรองไว้ 50,000 คอร์สการรักษา ส่งมอบล็อตแรกเมื่อกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการสั่งใช้ตามแนวทางของกรมการแพทย์   

 

หากดูความพอหรือไม่พอของการสำรองยา โดยคิดเพียงการนำปริมาณยาคงเหลือหารด้วยจำนวนใช้ต่อวัน ก็จะพบว่า ฟาวิพิราเวียร์ จะมีเหลือใช้ได้เพียง 10 วัน  หรือโมลนูพิราเวียร์ จะเหลือใช้ได้เพียง  4-5 วัน

 

จำนวนเตียงโควิด-19 

 

จำนวนเตียงของผู้ป่วยโควิด-19 ข้อมูล วันที่ 7 ก.ค.2565 มีเตียงทั้งหมด 103,798 เตียง แยกเป็น

ระดับ 1 ป่วยน้อย 78,229  เตียง

ระดับ2.1 ป่วยหนัก 19,875 เตียง

ระดับ2.2-ระดับ 3 ป่วยวิกฤต ปอดอักเสบรุนแรง และใส่ท่อช่วยหายใจ 5,694 เตียง

 

ครองเตียงระดับ 2-3 มากกว่า 20%

 

ข้อมูลการครองเตียงระดับ 2-3 เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2565  ภาพรวมอยู่ที่ 12.10 % แต่มี 8 จังหวัดที่อัตรการครองเตียง มากกว่า 20 % ได้แก่

  • กรุงเทพฯ 38.2 %
  • สมุทรปราการ 29.8 %
  • นนทบุรี 42.6 %
  • นครสวรรค์ 26 %
  • ชัยภูมิ 30.50 %  
  • ปทุมธานี 29.3 %  
  • เลย 22.10 %  
  • น่าน  20.50%