ข้อมูลเบื้องต้นในไทยโควิด19 สายพันธุ์ BA.4/BA.5 น่าจะรุนแรงกว่า BA.2

ข้อมูลเบื้องต้นในไทยโควิด19 สายพันธุ์ BA.4/BA.5 น่าจะรุนแรงกว่า BA.2

กรมวิทย์เผยข้อมูลเบื้องต้นในไทย BA.4-BA.5 น่าจะรุนแรงกว่า BA.2  ย้ำยังสรุปได้ไม่ชัดเจน ตัวอย่างยังน้อย-ไม่ได้แยกกลุ่มฉีดวัคซีน ขอรพ.ร่วมมือส่งตัวอย่างจากผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตมากขึ้น เพิ่มความแม่นของข้อมูล  ขณะที่แนวโน้มพบเพิ่มขึ้น กทม.อยู่ที่ 72 % ต่างจังหวัด 34 %

  เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ว่า  จากการเฝ้าระวังโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆ ช่วงวันที่ 2-8 ก.ค.2565 ตรวจกลุ่มตัวอย่าง 570 ราย พบเป็น BA.1 จำนวน 5 ราย BA.2 จำนวน 283 ราย และสายพันธุ์ย่อย BA.4 และBA.5 รวมกัน 280 ราย และไม่ชัดเจนอยู่ 2 ราย ทั้งนี้ กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่พบการติดเชื้อ เป็นสายพันธุ์  BA.4/BA.5 ถึง 78.4%  ในช่วงระหว่างวันที่ 2-8 ก.ค.2565  พื้นที่กทม.พบเป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 คิดเป็น 72.3 %  เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่อยู่ที่ 68.3 %  พื้นที่ภูมิภาค พบ34.7% เพิ่มขึ้นจาก 17.4 %  แสดงว่า สายพันธุ์ BA.4/BA.5 จะเริ่มแซงสายพันธุ์ BA.2 และ BA.1 แต่ไม่ได้แซงเร็วมากนัก

     นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า  ส่วนเรื่องความรุนแรงของ BA.4/BA.5  กรมได้มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในกลุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็นคนมีอาการรุนแรง และอาการไม่รุนแรง โดยพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า คนที่อาการไม่รุนแรงพบ BA.4/BA.5 ประมาณ 72% ส่วนคนที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบจนต้องเข้ารพ. หรือ ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต มีส่งข้อมูลมาเพียง 13 ราย พบเป็น BA.4/BA.5 อยู่ 77%   ส่วนพื้นที่ภูมิภาค คนที่อาการไม่รุนแรงมี 309 ราย พบ BA.4/BA.5 อยู่ที่ 33%  คนที่อาการรุนแรง 45 รายพบเป็น BA.4/BA.5 อยู่ที่ 46.67%

    ข้อมู]นี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับในประเทศไทยว่า  BA.4/BA.5  น่าจะมีความรุนแรงมากกว่า BA.1 BA.2 แต่ก็ยังสรุปเช่นนั้นได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากตัวอย่างที่ส่งมาตรวยยังน้อยอยู่ หากจะให้มีควาแม่นยำของข้อมูลควรมีการส่งตัวอย่างของผู้ป่วยหนัก และเสียชีวิตมาตรวจสายพันธุ์ มากกว่านี้เป็นหลักหลายร้อยราย อีกทั้ง ข้อมูลที่ได้ยังไม่ได้แยกในส่วนของผู้ที่รับวัคซีน  ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เพราะต้นทางไม่ได้ให้ข้อมูลเหล่านี้มา นอกจากระบุว่าเป็นตัวอย่างจากผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือสถานพยาบาลทุกพื้นที่ในการส่งตัวอย่างเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น

          “ขhอมูลความรุนแรงของBA.4/BA.5 ในประเทศไทยอาจจะยังไม่สรุปว่ารุนแรงขึ้น  เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่น่าจะรุนแรงกว่าBA.1  BA.2  และได้ขอความร่วมมือรพ.สังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกทม. ฯลฯ ขอให้มีการเก็บตัวอย่างคนปอดอักเสบจนนอนรพ. หรือใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งผู้เสียชีวิต ขอให้ส่งตรวจเพิ่มขึ้น เพื่อให้ข้อมูลชัดเจนและมั่นใจมากขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว

     นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า  สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกของ BA.4/BA.5 องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ติดตามข้อมูลเป็นสัปดาห์ๆ พบว่า  BA.5 เพิ่มขึ้นจาก 37% เป็น 52% ส่วน BA.4 จาก 11% เป็น12% หมายความว่า BA.4และ BA.5 อาจแพร่เร็วไม่เท่ากัน โดย BA.5 แพร่เร็วขึ้นแน่ๆ แต่ BA.4 ยังทรงๆ ส่วน BA.1 และ BA.2 กลับลดลง ถูกเบียดไป  ส่วนเรื่องความรุนแรง องค์การอนามัยไม่ได้ให้น้ำหนักมาก บอกเพียงว่า ความรุนแรงไม่ได้แตกต่างมากนัก  ส่วนการแพร่พบเร็วขึ้น ส่วนผลต่อการหลบภูมิคุ้มกัน พบว่า ลดลง    

           ข้อมูลในประเทศอังกฤษ พบว่า มีการแพร่เร็วสูงกว่าเดิม ความรุนแรงจัดว่าอยู่ในระดับสีเหลือง เพราะข้อมูลยังน้อย  ขณะที่หลบภูมิคุ้มกันน่าจะหลบแต่ข้อมูลยังไม่มาก ขณะที่งานวิจัยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อมูลห้องทดลองพบว่า การกลายพันธุ์มีผลต่อการเพิ่มจำนวนไวรัส  และดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดจาก BA.1 และ BA. 2 บ่งบอกว่า คนที่ติดเชื้อมาก่อนสามารถติดBA.4/BA.5 ซ้ำได้  อีกทั้ง พบว่าในเซลล์ปอดมนุษย์ แพร่ได้เร็วกว่า BA.2  และในหนูแฮมสเตอร์พบว่า กลุ่มติดเชื้อ BA.4/BA.5 มีอาการหนักกว่า BA.2