"Big Brothers"ประกาศเจตนารมณ์ นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง

"Big Brothers"ประกาศเจตนารมณ์ นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง

"Big Brothers" ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม ดันเกษตรกร ปราชญ์ชุมชน และคนในชุมชนเลี้ยง "ผึ้งชันโรง" สร้างอาชีพ สร้างรายได้ตลอดปี

"Big Brothers" หรือเครือข่าย Social Enterprise ที่ประกอบไปด้วยภาครัฐ เอกชน ซึ่งได้มีการร่วมกันทำงานเพื่อชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปี โดยมุ่งเน้นการเปิดโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน เกษตรกรจากวิธีการทำเกษตรแบบเดิม มาเป็นส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงที่มีคุณสมบัติพิเศษและมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป พร้อมทั้งมีการนำงานวิจัยมาพัฒนาเพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

ความร่วมมือ Big Brothers จะประกอบไปด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสนับสนุนงานวิจัย กลุ่มพี่เลี้ยงพัฒนาการเลี้ยงชันโรงและพัฒนาผลิตภัณฑ์  โดยจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนการเพาะเลี้ยงชันโรงใน 3 พื้นที่ ได้แก่

พื้นที่จ.ระยอง ประกอบด้วยบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC บริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) บริษัท อีสเทิร์น ฟลูอิด ทรานสปอร์ต จำกัด  

พื้นที่จ.สมุทรปราการ   ชุมชนบางน้ำผึ้ง  อ.พระประแดง รับผิดชอบโดยบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

พื้นที่จ.ลำปาง  จะดำเนินการโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “Blue Carbon”สู่คาร์บอนเครดิต บางจากศึกษา“หญ้าทะเล”ลดโลกร้อน

                        “เอสซีจีซี” ชูนวัตกรรม ย้ำผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน

                      Dow ชู "นวัตกรรม" สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ดันไทยสู่เป้า Net Zero

                       กฟผ.มั่นใจผลิตไฟฟ้ารองรับการใช้รถอีวีพร้อมผลิตแพลตฟอร์มรองรับ

 

  • Big Brothers ผลักดัน 3 พื้นที่สู่วิสาหกิจชุมชน น้ำผึ้งชันโรง

วันนี้ (11 ก.ค.2565) Big Brothers ได้ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ “Big Brothers...นำชุมชนสู่วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง” โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะองค์กรริเริ่มก่อตั้งเครือข่าย ได้เห็นผลสำเร็จในการทำงานของเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรมตลอด 7 ปีที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ 

“ปีนี้เป็นอีกปีที่เครือข่ายจะผนึกกำลังของพี่เลี้ยง (Big Brothers) ในการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรงในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง ลำปาง และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่าราคาของน้ำผึ้งชันโรงมีมูลค่าสูงกว่าราคาน้ำผึ้งปกติ” ดร.ณัฐพล กล่าว

“น้ำผึ้งชันโรง” เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศถึงสรรพคุณทางยา โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ถึงกับเรียกว่า “The Mother Medicine” สรรพคุณโดดเด่น คือ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตยารักษาเกี่ยวกับระบบโลหิต ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ สามารถนำไปดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงได้หลายผลิตภัณฑ์ เช่น เซรั่มบำรุงผิว ยา เครื่องสำอางค์ อาหารเสริม

 

 

  • วิจัย "สูตรอาหารใหม่สำหรับผึ้งชันโรง" 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช.ได้มีการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมของโครงการ “การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผึ้งชันโรง” จนทำให้ได้สูตรอาหารใหม่สำหรับผึ้งชันโรง

โดยนักวิจัยได้มีการนำจุลินทรีย์ที่คัดแยกจากรังผึ้งชันโรงสายพันธุ์ถ้วยดำในภาคเหนือมาพัฒนาเป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติก ผสมกับอาหารเสริมหลักที่มีเกสรผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำเปล่า เป็น​ส่วนประกอบ และมีกากถั่วเหลือง ถั่วเหลืองอบไขมันเต็ม และโปรตีนสำเร็จรูป เป็นส่วนประกอบเสริมทำให้ผึ้งชันโรงมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตสูง เพิ่มการสร้างตัวอ่อนในรังและสร้างถ้วยน้ำหวานเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สูตรอาหารเสริม​ ดังกล่าว ถูกพัฒนาให้เหมาะสำหรับผึ้งชันโรงในพื้นที่ภาคเหนือโดยจำเพาะสายพันธุ์ถ้วยดำ ซึ่งวช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรม จึงได้ขยายผลต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่​อื่น ๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่พัฒนาสูตรอาหารเสริมตามความจำเพาะของผึ้งชันโรงแต่ละสายพันธุ์อย่างเหมาะสมและยกระดับคุณภาพของน้ำผึ้งชันโรงให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานของประเทศและต่างประเทศ

จากความร่วมมือของ Big Brothers ในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันเพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของแบรนด์ “ชันโรงระยอง” “ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงลำปาง”   ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างรายได้อย่างมั่นคงและพอเพียง

  • SCGC มุ่งพัฒนาคุณภาพน้ำผึ้งชันโรง สร้างอาชีพ รายได้

นายปรีดา วัชรเธียรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่าน้ำผึ้งชันโรงแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน เพราะมีผึ้งชันโรงสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน คุณภาพอาหารของผึ้งจึงมีความจำเป็นที่ต้องคิดค้นพัฒนาเพื่อให้ได้สูตรอาหารที่เหมาะกับผึ้งชันโรงแต่ละพื้นที่

ในกลุ่ม SCGC จะสนับสนุน ส่งเสริม ผลักดันให้เกิดทักษะองค์ความรู้ งานวิจัยเกี่ยวกับอาหารเสริม ร่วมกันเพื่อช่วยพัฒนา และชักชวนให้ชุมชนได้เลี้ยงผึ้งชันโรงเป็นอาชีพ สร้างได้รายได้ให้แก่คนในชุนชน และพัฒนาน้ำผึ้งให้มีคุณภาพ และมีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น รวมถึงจะมีการทำการตลาด เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และทำให้ชุมชนต่างๆ เป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง และการเก็บข้อมูลเพื่อนำข้อมูลไปสู่เชิงวิชาการ ทำให้ผลิตภัณฑ์ สินค้าน้ำผึ้งชันโรง เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีงานวิจัยสนับสนุน

  • บางจาก ร่วมปราชญ์ชุมชนบางน้ำผึ้ง รักษาอัตลักษณ์น้ำผึ้งชันโรง

นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทบางจาก ในฐานะส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรง ที่บางน้ำผึ้ง อ.พระประแดงมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการธุรกิจพลังงานมากว่า 40 ปี ที่ได้ความสำคัญในการขับเคลื่อนดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักตามเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดล  Bangchak WOWที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว  สร้างสมดุลทางระบบนิเวศ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ  เปลี่ยนสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด และดูแลในเรื่องของคุณภาพน้ำ

“ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บางจากได้ร่วมกับปราชญ์ชุมชน เกษตรกรในพื้นที่ และเกษตรกรจังหวัดสมุทรปราการ ในการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรง เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ของบางน้ำผึ้ง โดยเริ่มแรกมีเกษตรเข้าร่วมเพียง 8 คน จนตอนนี้มีมากกว่า 30 คน และเมื่อได้มาร่วมเป็นหนึ่งใน Big Brothers  ซึ่งมีงานวิจัยสูตรอาหารสำหรับผึ้งชันโรง รวมถึงมีงานวิจัยอื่นๆ จะช่วยส่งเสริมเพิ่มอาหารให้แก่ผึ้งชันโรง ผึ้งที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก จะช่วยทำให้น้ำผึ้งมีคุณภาพมากขึ้น และชาวบ้านก็จะได้มีรายได้” นางกลอยตา กล่าว

นอกจากนั้น ทางบางจากจะส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องการของผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การบรรจุภัณฑ์ และช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกร ชาวบ้านที่สนใจเลี้ยงผึ้งได้มีอาชีพ มีรายได้ตลอดปี  

  • "กลุ่มดาว" พร้อมส่งเสริมดึงความรู้มหาวิทยาลัยสู่ชุมชน

นายเดชา พานิชยพิเชฐ  ผู้อำนวยการโรงงาน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัท ดาว เป็นบริษัทข้ามชาติ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเกือบ 50 ปี ซึ่งการเจริญเติบโตของบริษัทจะต้องดำเนินการควบคู่กับการตอบแทนสังคม ที่ผ่านมาจึงได้มีการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในหลากหลายพื้นที่ ทั้งในเรื่องของความรู้  การจัดการ การฝึกอบรมต่างๆ  โดยในพื้นที่จ.ระยอง ได้มีการเสริมสร้างประสบการณ์ ช่วยเหลือ นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมาถ่ายทอดให้แก่ชุมชนต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรงในจ.ระยอง  

  • เปลี่ยนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นแหล่งเลี้ยงผึ้งชันโรง

นายสิทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย   กล่าวว่ากฟผ.มีหน้าที่หลักในการผลิตไฟฟ้า และดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงมีหน้าที่รับผิดชอบ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อให้อ.แม่เมาะ กลายเป็นเมืองน่าอยู่ด้วยนวัตกรรมหลากหลาย และมีการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่

อนาคตถ่านหินก็คงลดจำนวนลง และกฟผ.อาจจะไม่ได้ใช่พื้นที่อ.แม่เมาะ ดังนั้น จะต้องมีการส่งเสริมอาชีพให้แก่คนในชุมชนสามารถอยู่ได้ มีงานทำ มีอาชีพ และมีรายได้ที่ยั่งยืน ซึ่งหากขับเคลื่อนในพื้นที่ อ.แม่เมาะสำเร็จ ก็จะขยายผลไปสู่พื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าอื่นๆ ต่อไป"นายสิทธิพงษ์ กล่าว