วิสาหกิจชุมชนไม้กฤษณา โมเดลเศรษฐกิจฐานราก“ระยอง”

วิสาหกิจชุมชนไม้กฤษณา โมเดลเศรษฐกิจฐานราก“ระยอง”

ระยองเป็นหนึ่งในจังหวัดบนพื้นที่อีอีซี ที่มี GDP สูงลำดับที่ 2 ของประเทศ จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นแหล่งปลูกพืชเกษตรที่สำคัญ เช่น ทุเรียน ขนุน มังคุด สับปะรด ยางพารา รวมไปถึง “ไม้กฤษณา” ไม้หอมที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

วรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา (สวนหอมมีสุข) ตั้งอยู่ที่ ตำบลกะเฉด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2565 โดยวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 2,000 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างผลผลิตจากไม้กฤษณา โดยได้มีการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่พันธุ์กล้าไม้กฤษณา แก่นกฤษณา น้ำมันหอมระเหย โดยเฉลี่ยปลูกไม้กฤษณาคนละ 10,000 ต้น

นอกจากนี้ ยังเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการต่อยอดการแปรรูปไม้กฤษณาเป็นพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 40 ชนิด ทั้งยังมีการจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อการส่งออกในชื่อ “หอมมีสุข” เมื่อปี 2552 ซึ่งได้มีตลาดส่งออกไปต่างประเทศมากกว่า 20 ประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง จีน ญี่ปุ่น โดยสร้างมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 3 - 8 ล้านบาท อีกทั้งยังได้รับรางวัลระดับประเทศด้านผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและส่งออกยอดเยี่ยม ผลิตจากสมุนไพรธรรมชาติไม่ใส่สีและสารเคมี

ที่ผ่านมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน2,120,000 บาท เพื่อนำไปปรับปรุงกิจการ และยังได้เข้าร่วมโครงการเสริมแกร่ง SMEs ที่รัฐให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเงินและบัญชี รวมทั้งโครงการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมระดับจังหวัด

นอกจากนี้ ยังได้รับการรับรอง มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) ในส่วนการบริหารกิจกรรมเชิงนิเวศเพื่อการท่องเที่ยว ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับการรับรองตาม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย แชมพูกฤษณา ครีมนวดผมกฤษณา สบู่ก้อน สบู่ก้อนกลีเซอรีน ผลิตภัณฑ์พอกหน้า และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว  

พิกุล กิตติพล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากการทำสวน ปลูกทุเรียน มังคุด สละ ลองกอง และปลูกไม้ยืนต้นร่วมด้วย เช่น ไม้สัก ยางนา มะค่า ไม้หอม ตะเคียน มะฮอกกานี ด้วยความสนใจอยากปลูกปลูกป่าแบบวนเกษตร มาตั้งแต่ 2533

“จากที่ต้องการไปปลูกป่าในพื้นที่วัด กลับมีคนมาขอซื้อต้นกฤษณาที่ต้นใหญ่ ราคา 60,000-80,000 บาท ทำให้ทราบมูลค่าของต้นกฤษณาจึงหันมาเริ่มปลูกและทดลองด้วยวิธีการต่างๆ จากองค์ความรู้ของภูมิปัญญาชาวบ้าน เจาะไม้ให้เกิดแก่นกฤษณา ฉีดสารที่ทำขึ้นเพื่อให้ไม้สร้างเรซิ่นจนเป็นไม้หอม ใช้เวลานาน 10 กว่าปี จนสำเร็จแล้วไปจดทะเบียนสิทธิบัตรกับกระทรวงพาณิชย์ และมีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา ปี 2548”

หลังจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยจากไม้กฤษณาได้แล้วแต่กลับพบอุปสรรคในการหาตลาด เนื่องจากไม้กฤษณาในขณะนั้นมีราคาสูงราว 5 แสนบาทต่อกิโลกรัม จึงได้ศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันกฤษณาเพื่อต่อยอดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขยายตลาดและกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น 

“ได้นำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเริ่มขายในตลาดโอท็อป จนมีลูกค้ามากขึ้นแล้วขยับไปเปิดตลาดต่างประเทศผ่านการร่วมโครงการของกรมส่งเสริมการส่งออก” วิสาหกิจชุมชนไม้กฤษณา โมเดลเศรษฐกิจฐานราก“ระยอง”

นายณัฐวัฒน์ วงษ์วชิรโชติ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้มีเป้าหมายในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับฐานราก วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร รวมไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ผ่านการบูรณาการร่วมกับโครงการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการบิ๊กบราเธอร์รายใหญ่ช่วยรายย่อย

รวมทั้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองได้มีการลงพื้นที่ร่วมกับนักวิชาการและหน่วยงานอื่นทั้ง 8 อำเภอ ในจังหวัดระยอง เพื่อจัดประชุมรับฟังความเห็นชุมชนเพื่อรับทราบความต้องการของคนในพื้นที่ 

ทั้งนี้จะเป็นการประสานให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมพัฒนาที่เหมาะสมจากหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นกิจการเกี่ยวกับการทำเกษตรแปรรูป อาหาร ของใช้ ของตกแต่ง เครื่องจักรสานจากไม้ไผ่และผักตบชวา สมุนไพร และเครื่องสำอาง

นอกจากนี้ ในปี 2565 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้วางเป้าหมายให้มีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ให้ได้ 35 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มขึ้นทุกปีตามแนวโน้มการเติบโตของผู้ประกอบการในจังหวัด รวมทั้งให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 ผลิตภัณฑ์ ในวงเงิน 2 แสนบาท และโครงการแปรรูปปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ปีละ 4 ผลิตภัณฑ์ งบประมาณ 2 แสนบาท