สธ. เปิดหลักเกณฑ์ และมาตรการป้องกัน "โรคโควิด-19" สำหรับ "สถานประกอบกิจการ"

สธ. เปิดหลักเกณฑ์ และมาตรการป้องกัน "โรคโควิด-19" สำหรับ "สถานประกอบกิจการ"

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข หลักเกณฑ์ และมาตรการด้านสุขลักษณะป้องกันความเสี่ยงจาก โรคโควิด-19 สำหรับสถานประกอบกิจการ

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 เว็บไซต์ "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และมาตรการด้านสุขลักษณะป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) สำหรับสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565

 

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) สำหรับสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องฝ้าระวัง เพื่อให้สถานประกอบกิจการ และผู้ดำเนินกิจการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และมาตรการด้านสุขลักษณะป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

 

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และมาตรการด้านสุขลักษณะป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) สำหรับสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565"

 

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ 3 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธรณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) สำหรับสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2564

 

 

ข้อ 4 ในประกาศนี้

 

"สถานประกอบกิจการ" หมายความว่า สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในมาตรา 31

 

"ผู้ดำเนินกิจการ" หมายความว่า เจ้าของ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของสถานประกอบกิจการนั้น

 

"ผู้ติดเชื้อ" หมายความว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

 

"โรคติดเชื้อไวรัส" หมายความว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

 

"ระบบทคโนโลยีดิจิทัล" หมายความว่า การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลและการสื่อสารที่เกิดจากการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเตอร์เน็ต หรือโครงข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมและระบบเครือข่ายที่คล้ายคลึงกันที่เชื่อมต่อกันเป็นการทั่วไป

 

ข้อ 5 ผู้ดำเนินกิจการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และมาตรการด้านสุขลักษณะป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัส ดังต่อไปนี้

 

(1) จัดให้มีการทำความสะอาดอาคารสถานประกอบกิจการ พื้น ผนัง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยหรือสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตูราวบันได ปุ่มกดลิฟต์โดยสาร เก้าอี้ โต๊ะสำหรับรับประทานอาหาร ห้องน้ำและห้องส้วม ต้องดูแลความสะอาดให้อยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะเป็นประจำทุกวัน

 

กรณีสถานประกอบกิจการตามข้อ 3 กิจการกลุ่ม 9 กิจการที่เกี่ยวกับการบริการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทำความสะอาดสถานที่ให้บริการอย่างน้อยวันละสองครั้ง หรือเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมหรือจุดเสี่ยงมากขึ้น ตามปริมาณของผู้เข้ามาใช้บริการด้วย

 

(2) จัดให้มีการทำความสะอาด เครื่องมือ เครื่องใช้ ภาชนะ อุปกรณ์และเครื่องจักรเกี่ยวกับกระบวนการผสิตและการประกอบกิจการที่มีการสัมผัสบ่อย หรือสัมผัสร่วมกัน ก่อนและหลังประกอบกิจการ หรือให้บริการทุกครั้ง

 

(3) จัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมน้ำและสบู่อย่างเพียงพอ หรือจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์หรือแอลกอฮอล์เข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบ วางไว้ในจุดที่สามารถใช้ได้อย่างสะดวก และเพียงพอ

 

(4) จัดให้มีมาตรการเว้นระยะห่างในพื้นที่ปฏิบัติงานและพื้นที่ให้บริการอย่างเหมาะสมหรือมีมาตรการป้องกันรูปแบบอื่นตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ราชการกำหนด

 

กรณีสถานประกอบกิจการตามข้อ 3 กิจการกลุ่ม 9 กิจการที่เกี่ยวกับการบริการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องมีมาตรการกำกับดูแลการให้บริการ ไม่ให้หนาแน่น หรือแออัด จนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือเกิดการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสด้วย

 

(5) จัดให้มีระบบระบายอากาศในอาคารที่ดีและเพียงพอ โดยวิธีธรรมชาติหรือโดยวิธีกลก็ได้โดยอัตราการระบายอากาศต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและต้องดูแล ตรวจสอบ บำรุงรักษาระบบปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอให้อยู่ในสภาพดี และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กรณีสถานประกอบกิจการตามข้อ 3 กิจการกลุ่ม 9 กิจการที่เกี่ยวกับการบริการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากมีผู้เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากต้องเพิ่มการระบายอากาศเพื่อแลกเปลี่ยนอากาศ เช่น ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เปิดประตู หน้าต่างเป็นระยะ หรือวิธีการอื่นใดเพื่อระบายอากาศ และห้องส้วมให้เปิดพัดลมดูดอากาศออกตลอดเวลาการใช้งานด้วย

 

(6) จัดให้มีภาชนะบรรจุ หรือภาชนะรองรับที่หมาะสมและเพียงพอกับประเภทและปริมาณของมูลฝอย โดยจัดเก็บใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้มิดชิด นำไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ และทำความสะอาดภาชนะบรรจุ หรือภาชนะรองรับและบริเวณที่ตั้งภาชนะนั้นอย่างสม่ำเสมอ

 

(7) จัดให้มีอุปกรณ์ทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาด สารฆ่าเชื้อ อย่างเพียงพอ และมีอุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับพนักงานทำความสะอาดที่เหมาะสม เพียงพอ เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย รองเท้าบูท ที่คีบด้ามยาวสำหรับเก็บมูลฝอยใส่ถุง

 

(8) กำกับดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานรักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด และมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี

 

(9) สถานประกอบกิจการที่มีโรงอาหาร สถานที่รับประทานอาหาร หรือมีการให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ต้องจัดบริการที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และจัดให้มีอ่างล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์เข้มขั้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบ วางไว้ในจุดที่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกและเพียงพอ

 

(10) กำกับดูแลคัดกรองผู้ปฏิบัติงาน หากพบว่ามีอาการป่วยหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อให้พิจารณาหยุดปฏิบัติงาน และดำเนินการตามข้อ 6 ต่อไป

 

กรณีสถานประกอบกิจการตามข้อ 3 กิจการกลุ่ม 9 กิจการที่เกี่ยวกับการบริการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องคัดกรองผู้ใช้บริการหากพบว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นผู้ติดเชื้อให้งดเข้าใช้บริการด้วย

 

(11) กำกับ ดูแล ให้ผู้ปฏิบัติงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หรือชุดปฏิบัติงานที่เหมาะสม หรือสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมตามลักษณะงาน

 

กรณีสถานประกอบกิจการตามข้อ 3 กิจการกลุ่ม 9 กิจการที่เกี่ยวกับการบริการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องกำกับ ดูแลผู้มาใช้บริการ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยรคระบบทางเดินหายใจ ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสถานประกอบกิจการด้วย

 

ข้อ 6 สถานประกอบกิจการและผู้ดำเนินกิจการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านสุขลักษณะและมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสเพิ่มเติม กรณีพบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสในสถานประกอบกิจการ จนกว่าจะพ้นระยะเวลาการแพร่เชื้อตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังต่อไปนี้

 

(1) ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในบริเวณสถานประกอบกิจการ ที่คาดว่าพบผู้ติดเชื้ออยู่ในสถานประกอบกิจการนั้นทันที โดยอาจพิจารณาหยุดกิจกรรมหรือการให้บริการ ในแผนกที่มีผู้ปฏิบัติงานนั้นติดเชื้อไวรัส

 

(2) เพิ่มการดูแลการระบายอากาศในสถานประกอบกิจการ ให้มีการถ่ายเทอากาศบริเวณที่พบผู้ติดเชื้อทันที และปรับปรุงระบบระบายอากาศให้ดียิ่งขึ้น โดยอาจติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เช่น เครื่องกรองอากาศ หรือพัดลมดูดอากาศให้เพียงพอ และห้องส้วมให้เปิดพัดลมดูดอากาศออกตลอดเวลาการใช้งาน

 

(3) จัดให้มีระยะห่างระหว่างผู้ปฏิบัติงานในแผนกที่พบผู้ติดเชื้อ และแผนกที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร หรือมีมาตรการอื่นที่เหมาะสม ตามที่เจ้าพนักงานสาธารณสุขแนะนำ และให้งดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในช่วงการพักรับประทานอาหารของผู้ปฏิบัติงาน

 

(4) จัดการมูลฝอยประเภทที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อที่ใช้งานแล้ว ในแผนกที่มีผู้ปฏิบัติงาน เป็นผู้ติดเชื้อและบริเวณที่เกี่ยวข้อง โดยจัดที่ทิ้งมูลฝอยติดเชื้อเป็นการเฉพาะ แยกเก็บรวบรวมและทำลายเชื้อโรค โดยใส่ถุงบรรจุมูลฝอยติดเชื้อที่ทำจากพลาสติกหรือวัสดุอื่นที่มีความเหนียวไม่ฉีกขาดง่าย ทนทานต่อสารเคมีและการรับน้ำหนัก กันน้ำได้ ไม่รั่วซึม จำนวนสองชั้น ถุงชั้นแรกให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วซ้อนด้วยถุงแดงสำหรับบรรจุมูลฝอยติดเชื้ออีกหนึ่งชั้น มัดปากถุงให้แน่นอีกครั้ง หากไม่มีถุงแดงต้องมีข้อความ "มูลฝอยติดเชื้อ" ปรากฏบนถุงบรรจุมูลฝอยติดเชื้อ และให้เก็บรวบรวมแยกไว้เฉพาะตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

ข้อ 7 สถานประกอบกิจการใดมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเท่ากับหรือมากกว่ามาตรการตามประกาศนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการนั้นต่อไปได้ และต้องปฏิบัติมาตรการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดด้วย

 

ข้อ 8 ผู้ดำเนินกิจการต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคตามที่กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกำหนด หรือตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือใช้มาตรการอื่นตามที่ราชการกำหนดด้วย

 

ข้อ 9 ผู้ดำเนินกิจการต้องประเมินตนเองด้านสุขลักษณะและมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัส ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลตามที่กรมอนามัยกำหนดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก่อนการต่ออายุใบอนุญาต หรือในกรณีที่มีความเสี่ยง เพื่อการเฝ้าระวังความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสและป้องกันมิให้เกิดผลกระทบหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

ประกาศ ณ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

 

สาธิต ปิตุเตชะ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

อ่านประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็มคลิกที่นี่