ก.แรงงาน "อัพสกีล" เจ้าหน้าที่ฯ รับมือนายหน้าหลอกคนหางาน ผ่านออนไลน์

ก.แรงงาน "อัพสกีล" เจ้าหน้าที่ฯ รับมือนายหน้าหลอกคนหางาน ผ่านออนไลน์

"กระทรวงแรงงาน" เดินหน้า "อัพสกิล" เจ้าหน้าที่ฯ รับมือสาย-นายหน้าเถื่อน หลอกคนหางาน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ปกป้อง ช่วยเหลือคนหางานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สาย-นายหน้าเถื่อนหันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์โพสต์โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยมีการใช้ช่องทางดังกล่าวหลอกลวงคนหางานอย่างเป็นกระบวนการให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการหลอกลวงให้เดินทางไปทำงานเกษตรในเครือรัฐออสเตรเลีย งานนวดสปาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การหลอกลวงไปทำงานซาอุดีอาระเบียด้วยวิธีผิดกฎหมาย และล่าสุดหลอกลวงคนไทยให้ลักลอบข้ามแดนเพื่อไปทำงานประเทศเพื่อนบ้าน จนสุดท้ายถูก บังคับใช้แรงงาน และมีการออกไลฟ์มาขอความช่วยเหลือผ่านเฟสบุ๊ค

 

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล กระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการป้องกันมิให้คนหางานถูกหลอกลวงจากการหางานทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 คลี่คลาย และประเทศไทยพร้อมที่จะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ"

 

"จึงกำชับกระทรวงแรงงาน เฝ้าระวัง และติดตามตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างมากที่เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันและปราบปรามผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน ต้องรู้เท่าทัน สาย-นายหน้าเถื่อน เพื่อปกป้องช่วยเหลือคนหางานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การหลอกลวงของสาย-นายหน้าจัดหางานเถื่อนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและสังคมออนไลน์ ทำให้สามารถหลอกลวงคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ให้เป็นเหยื่อได้อย่างแยบยล ซับซ้อนยิ่งขึ้น จนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนหางาน กรมฯจึงจัดโครงการสัมมนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการป้องกัน และปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 22 -24 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม เดอะ พาลาสโซ เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

 

โดยมุ่งหวังเสริมสร้างทักษะความรู้ความสามารถด้านการป้องกันและปราบปรามฯ แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะการหลอกลวงคนหางานไปทำงานในต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ด้านการป้องกันการหลอกลวง เบาะแสผู้เป็นภัยต่อคนหางานที่กำลังระบาดในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่อื่นรับทราบและหาทางป้องกัน ตลอดจนสามารถเตือนภัยผู้นำชุมชน คนหางานได้ทราบข่าวสารอย่างทันท่วงที

สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 และกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน รวมผู้เข้ารับการสัมมนาทั้งสิ้น จำนวน 80 คน โดยทั้งหมดจะได้รับการอบรมด้านเทคนิคการสืบเบาะแสและการเก็บรวบรวมหลักฐานทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่สาย-นายหน้าเถื่อนนิยมใช้ในปัจจุบัน

 

โดยวิทยากรที่มาจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งการรับเรื่องร้องทุกข์ การวินิจฉัยคำร้องทุกข์และการดำเนินคดี มาตรา 30 มาตรา 91 ตรี และการดำเนินคดีผู้โฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 66 แห่งพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 โดยวิทยากรจากกองนิติการ กรมการจัดหางาน