คู่แรกของโลก "วราวุธ" ดีลแลกเปลี่ยน "คาร์บอนเครดิต" ไทย-สวิตเซอร์แลนด์

คู่แรกของโลก "วราวุธ" ดีลแลกเปลี่ยน "คาร์บอนเครดิต" ไทย-สวิตเซอร์แลนด์

คู่แรกของโลก ! "วราวุธ" ดีลแลกเปลี่ยน "คาร์บอนเครดิต" ไทย-สวิตเซอร์แลนด์ สำเร็จ ยืนยันคุ้มค่าทำงาน ไม่มีขาดทุน พร้อมเผย ต่างชาติร่วมยินดี หลัง ประกาศความสำเร็จแก้ปัญหาทะเลไทย บนเวที UN Ocean Conference ณ กรุงลิสบอน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงความสำเร็จ ภายหลังการเดินทางเยือนสวิตเซอร์แลนด์ ในภารกิจ ลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส (Implementing Agreement to the Paris Agreement between the Kingdom of Thailand and the Swiss Confederation) 

 

โดยระบุว่า หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงทรัพฯ ลงนามใน MOU เรื่อง Climate change กับ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2564  การเดินทางครั้งนี่จึงเป็นการต่อยอดจากครั้งที่แล้ว ขณะเดียวกันภาคเอกชนของไทยยังได้ลงนามกับภาคเอกชนของสวิตเซอร์แลนด์ในโครงการแลกเปลี่ยน สนับสนุนด้านการเงินให้ภาคเอกชนของไทยเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางให้เป็น EV 100%
 

ทั้งนี้หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่าประเทศไทยมีคาร์บอนเครดิตมากเพียงพอที่จะไปแลกกับสวิตซ์แล้วหรือไม่นั้น นายวราวุธ อธิบายเพิ่มเติมว่า 

 

"สิ่งที่แลกเปลี่ยนครั้งนี้ เหมือนการอยากได้เงินแล้วเอาเงินไปต่อเงิน เมื่ออยากได้คาร์บอนเครดิตเพิ่ม ก็ต้องเอา คาร์บอนเครดิต ไปต่อ เพราะไทยตกลงที่จะขายคาร์บอนเครดิตให้ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเงินและเทคโนโลยีที่จะได้รับการสนับสนุนกลับมาจะช่วยให้เราสามารถลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าสิ่งที่เราขายไป ดังนั้น ยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่ขาดทุน และไม่มีทางเท่าทุนอย่างแน่นอน เพราะข้อตกลงนี้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ตนเคยบอกว่า หากขายคาร์บอนไป 100 ตัน เพื่อให้ได้เงินสนับสนุนกลับมาเพื่อให้เราลด 100 ตัน  ก็ไม่คุ้ม ถ้าทำแบบนั้นอย่าทำดีกว่า ดังนั้น หากขาย 100 ต้องได้สิ่งที่ช่วยให้เราลดลงกลับมา 150-200 จึงจะคุ้มค่าในการทำงาน" 


อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ภาคเอกชนก็จะรีบดำเนินการ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศคู่แรกในโลก ตาม ความตกลงปารีส Article 6.2 โดยทางสวิตเซอร์แลนด์ก็ดีใจและเชื่อว่าหลังจากนี้หลายๆประเทศจะมีการเซ็นสัญญาในลักษณะนี้มากขึ้น 

ขณะเดียวกัน นายวราวุธ ยังมีอีกหนึ่งภารกิจที่ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส เพื่อ
ร่วมการประชุม 2022 UN Ocean Conference  ซึ่งได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงให้ทั่วโลกได้รู้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยทำอะไรไปบ้างในมิติของทะเล เช่น มีการกำจัดขยะในทะเล จนสามารถลดลำดับประเทศที่มีการปล่อยขยะลงทะเลมากที่สุดของโลก จากลำดับที่ 6 มาเป็นลำดับที่ 10 


นอกจากนี้ ยังพูดถึงมิติของกรมประมง ที่เร่งแก้ปัญหาเรื่อง IUU จนสามารถออกจากลิสต์ของ IUU ตลอดจนการขยายพื้นที่การคุ้มครองทางทะเล และอีกหลายประเด็นความสำเร็จของประเทศไทย 


นายวราวุธ ย้ำว่า การเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์และโปรตุเกส ครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ พร้อมขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงประชาชนคนไทยที่ช่วยกันผลักดันจนวันนี้สถานะของไทย เมื่อไปพูดถึงผลงานต่างๆในเวทีโลกต่างขอบคุณและแสดงความยินดีกับไทย