รมว.ทส. ปลื้ม! พบสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น กำชับ “กรมทะเล” ร่วมพันธมิตรติดตามผลระยะยาว

รมว.ทส. ปลื้ม! พบสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น กำชับ “กรมทะเล” ร่วมพันธมิตรติดตามผลระยะยาว

"วราวุธ" รมว.ทส. ปลื้ม! พบสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น แหล่งปะการังขาแท่นใต้ทะเล กำชับ “กรมทะเล” ร่วมพันธมิตรติดตามผลระยะยาว

การพัฒนาแหล่งปะการังเทียมใต้ทะเลของประเทศไทยเริ่มดำเนินมามากกว่า 20ปี สามารถสร้างระบบนิเวศปะการังแห่งใหม่ในหลายพื้นที่ ด้วยรูปแบบที่แตกต่างของวัสดุที่ใช้ในการจัดทำปะการังเทียมในปัจจุบันมีความหลากหลายและสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง การใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเพื่อการจัดวางเป็นปะการังเทียม (Rig-to-Reef) นับเป็นนวัตกรรมใหม่ โดยได้จัดวางบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแห่งแรก

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยกทีมลงพื้นที่ติดตามสถานภาพแหล่งปะการังเทียม เผยความสำเร็จและชื่นชมผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งอนุรักษ์ทางทะเลและแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้ พร้อมสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมมือพันธมิตรเร่งถอดบทเรียนติดตามผลกระทบทุกมิติอย่างใกล้ชิด ต่อไป

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่เพื่อดำน้ำสำรวจทรัพยากรใต้ทะเล เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ตนได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงหาแนวทางในการยกระดับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปะการังของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งวันนี้ (21 พฤษภาคม 2565)

ตนพร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจสถานภาพพื้นที่จัดวางปะการังเทียม โดยใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของบริษัทเชฟร่อน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดจำนวน7ขาแท่น ซึ่งหมดอายุสัมปทานมาจัดวางเป็นปะการังเทียมซึ่งแม้ว่าวันนี้มีคลื่นลมและมรสุมจนไม่สามารถลงดำน้ำสำรวจได้ด้วยตนเอง แต่จากการรายงานและภาพถ่ายใต้น้ำของทีมสำรวจล่วงหน้าที่มาดำน้ำสำรวจเมื่อวานนี้(20พค.2565)

รมว.ทส. ปลื้ม! พบสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น กำชับ “กรมทะเล” ร่วมพันธมิตรติดตามผลระยะยาว

ตนรู้สึกพอใจมากกับสภาพระบบนิเวศใหม่ ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งระบบนิเวศปะการังที่สมบูรณ์และสวยงาม สามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ตนได้ย้ำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ พร้อมให้ถอดบทเรียนจากผลการปฏิบัติงานครั้งนี้ และขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่น ต่อไป

นอกจากนี้ ตนอยากให้มีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์และต้องไม่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเด็ดขาด นายวราวุธ กล่าว

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า การดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการจัดวางเป็นแหล่งปะการังเทียม ได้เริ่มดำเนินมานับสิบปี จัดวางปะการังเทียมไปแล้วกว่า 150,000 แท่ง สร้างแหล่งปะการังแห่งใหม่ใต้ท้องทะเลกว่า 36,000 ไร่ สำหรับพื้นที่บริเวณพื้นที่ปะการังเทียมขาแท่นปิโตรเลียม บริเวณพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีดำริริเริ่มมาในสมัยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังคงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ

ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ ภายหลังการวางขาแท่นเป็นแหล่งปะการังเทียม กรม ทช. ได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 และจะสิ้นสุดการบังคับใช้วันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นการห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด ห้ามดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ หรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยเร่งการเกาะตัวของปะการังอ่อนและสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์ใต้ทะเล ซึ่งตนคิดว่าการลดกิจกรรมของมนุษย์ในช่วงแรกทำให้ประสิทธิภาพของการเกิดแหล่งปะการังใหม่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่และทีมนักวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกมิติ ทั้งนี้ กรม ทช. ได้เตรียมแผนประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามมาตรา 22 ต่อไป 

รมว.ทส. ปลื้ม! พบสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น กำชับ “กรมทะเล” ร่วมพันธมิตรติดตามผลระยะยาว

นายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัท เชฟรอนฯ และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยินดีกับความสำเร็จของโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียม ที่ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถใช้ประโยชน์ขาแท่นฯ เป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ซึ่งจากการสำรวจหลังการจัดวางปะการังเทียม พบการเข้าอยู่อาศัยของประชากรปลาที่หนาแน่นขึ้น และมีความหลากหลายของชนิดปลาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่ดีบริเวณของขาแท่นฯ ตลอดจนผลการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณกองปะการังเทียมอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงเชื่อมั่นว่า กองปะการังเทียมแห่งนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ด้านฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญให้กับชาวประมงในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ในอนาคต ต่อไป

ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลา 1 ปีหลังการจัดวางปะการังเทียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามและสำรวจเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบอื่นๆ ต่อระบบนิเวศใต้ทะเล สรุปเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก รวมถึงได้สำรวจสภาพเศรษฐกิจและสังคมแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง ซึ่งจะสรุปภาพรวมของผลการดำเนินงานใน 5 มิติใหญ่ ๆ คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางทะเล ด้านการสำรวจปลาในพื้นที่โครงการฯ ด้านการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติด ด้านการเคลื่อนตัวของโครงสร้างปะการังเทียม และด้านการเข้าใช้ประโยชน์ของชุมชน ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ จะดำเนินการสำรวจเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ต่อไป ตามกรอบการดำเนินงาน 2 ปีหลังจากจัดวางปะการังเทียม ในช่วงเดือนกันยายน 2565 และคาดว่าจะทราบผลการสำรวจในช่วงต้นปี 2566 ดร. ศุภิชัย กล่าวในที่สุด