" 88 ปี ธรรมศาสตร์" ปรัชญาเสรีภาพการศึกษา สถานศึกษาต้องไม่แยกจากบ้านเมือง

" 88 ปี ธรรมศาสตร์" ปรัชญาเสรีภาพการศึกษา  สถานศึกษาต้องไม่แยกจากบ้านเมือง

"88 ปี ธรรมศาสตร์" ยืนหยัด ปรัชญาเสรีภาพทางการศึกษา พร้อมปรับตัวเท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง ด้าน "สมคิด" ระบุคนรุ่นใหม่เรียกประชาธิปไตยไทย  4 second democracy แค่4 นาทีที่คุณหย่อนบัตร แนะสถาบันการศึกษาต้องไม่แยกส่วนกับปัญหาบ้านเมือง

2 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทุกพื้นที่ในประเทศปกคลุมด้วยบรรยากาศแห่งความกระหายใคร่รู้ พลเมืองตื่นตัวกับ “ประชาธิปไตย”  แต่ด้วยเป็นของใหม่ จึงยังปรากฏความคลาดเคลื่อนและความสับสนให้เห็นอยู่...

เพื่อให้การศึกษาและสร้างความเข้าใจการปกครองระบบใหม่ที่ถูกต้อง ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีแนวคิดที่จะสถาปนามหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นไปที่การเรียนการสอนเรื่อง “ประชาธิปไตย” 27 มิ.ย. 2477 “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก และวันที่ 27 มิ.ย.ของทุกปี จึงถือเป็นวันครบรอบ “วันสถาปนา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • 88 ปี ธรรมศาสตร์ ยึดปรัชญาเสรีภาพทางการศึกษา

วันนี้ (27 มิ.ย.2565)ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 88 ปี 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมธ. กล่าวเปิดงานว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยึดถือปรัชญาเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษาจวบจนปัจจุบัน

"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมั่นคงต่อหนทางในการมุ่งเน้นพัฒนาการเรียนการสอน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ปัจจุบันที่ธรรมศาสตร์และสังคมโลกต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม การสถาปนาธรรมศาสตร์ครบ 88 ปี เกิดขึ้นได้เพราะทุกคนมีส่วนเป็นกำลังสำคัญให้ธรรมศาสตร์ยืนหยัดแข็งแกร่ง" อธิการบดี มธ. กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ‘ธรรมศาสตร์’ ศูนย์กลางอาเซียน ยกระดับ ‘ความปลอดภัยทางไซเบอร์’

                       เรียนก่อน จบก่อน "เรียนล่วงหน้า" มีที่ไหนเปิดรับบ้าง?

                       "ธรรมศาสตร์" ฟื้นฟูตำรายาโบราณ 300 ปี 4 ตำรับ ยกเครื่องใช้ได้จริง

                      ไม่มีสูตรสำเร็จ!! “การศึกษาโฉมใหม่” ต้องเรียนรู้ตามเด็ก

 

  • เชื่อจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ไม่จางหาย ลุกโชนใหม่ได้เสมอ

ทั้งนี้ ศ.พิเศษ นรนิติ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วเข้าสู่พิธีมอบเข็มและโล่เกียรติยศ ประจำปี 2564-2565 รวมถึงผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งครบวาระในปี 2564-2565 โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติมอบเข็มเกียรติยศประจำปี 2564 แด่ นายอาษา เมฆสวรรค์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และประจำปี 2565 แด่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี

จากนั้น ศ.พิเศษ นรนิติ เป็นประธานในพิธีมอบโล่เกียรติยศในด้านต่างๆ ประจำปี 2564 รวม 62 ราย และปี 2565 รวม 52 ราย และโล่เกียรติคุณแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งครบวาระในปี 2564 จำนวน 7 ราย และปี 2565 จำนวน 6 ราย

ด้าน ดร.สมคิด กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ 88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย ตอนหนึ่งว่า ธรรมศาสตร์ก้าวมาถึงปีที่88 แล้ว ซึ่งบริบทในรั้วมหาวิทยาลัยถือว่าสุกงอมสมบูรณ์และเข้มข้นจนสามารถสร้างบุคลากรที่มีความมุ่งมั่นและแรงบันดาลใจที่ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมภายนอก 

ขณะเดียวกันบางยุคบางสมัยเงื่อนไขในบริบทนั้นก็อาจเบาบางลงไปบ้างด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดทางสังคมและการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย นั่นเป็นเรื่องปกติของความเป็นอนิจจัง มีศิษย์เก่าธรรมศาสตร์บางท่านถึงกับกล่าวอย่างสะท้อนใจว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้นหายไปไหน คงเหลือแต่คำเล่าขานแล้วกระมัง แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย กลับมั่นใจว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้นไม่ได้หายไปไหนและพร้อมจะกลับมาลุกโชนใหม่ได้เสมอ

"จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ เป็นผลพวงของบริบทอันเป็นเบ้าหลอมในรั้วมหาวิทยาลัยกับความมุ่งมั่นและจิตสำนึกของคนธรรมศาสตร์  ผมเชื่อว่าบริบทนั้นไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง แต่สามารถปรับปรุงให้มีองค์ประกอบใหม่ๆที่สอดคล้องกับกาลสมัยและความต้องการของคนในแต่ละรุ่น"ดร.สมคิด กล่าว

 

  • ชาวธรรมศาสตร์ต้องการประชาธิปไตยเพื่อคนทั้งประเทศ 

เมื่อใดก็ตาม ที่มหาวิทยาลัยสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษากลับมาตื่นตัว สนใจประเด็นสาธารณะ ที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของพวกเขา และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกซึ่งความคิดของเขาโดยที่สังคมพร้อมรับฟังและ respect ในความคิดของพวกเขา ว่าพวกเขาคิดอย่างไรที่จะแก้ปัญหาและจะสร้างอนาคตบ้านเมืองของพวกเขาอย่างไร ความกระตือรือร้น แรงบันดาลใจ และจิตวิญญาณที่จะสร้างประโยชน์ให้สาธารณะจะกลับมาลุกโชน

ชาวธรรมศาสตร์พยายามต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยมาตลอด88ปี ซึ่งชาวธรรมศาสตร์คงจินตนาการไปไม่ถึงและคงไม่ต้องการเห็นประชาธิปไตย ในversionแจกกล้วยเป็นหวี อย่างที่เป็นข่าว และถูกใช้เพียงเพื่อเป็นเกราะในการแสวงประโยชน์ทางการเมือง

ชาวธรรมศาสตร์คงไม่ต้องการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เพียงเอื้ออำนวยให้คนเพียง1% แต่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ของประเทศมากกว่า 60%ในขณะที่คนไทย 99%เป็นเจ้าของสินทรัพย์เพียงสามสิบกว่าเปอร์เซ็นเท่านั้น หรือประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบให้สร้างความไม่เท่าเทียมทางการเมืองซึ่งวันหนึ่งอาจนำไปสู่วิกฤติการการเมืองครั้งใหญ่ได้ หรือเราจะพอใจกับประชาธิปไตยแบบนี้

  • ประชาธิปไตยไทย  4 second democracy แค่4 นาทีที่คุณหย่อนบัตร

ดร.สมคิด กล่าวต่อไปว่า เด็กรุ่นใหม่รับไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีไฟแต่ไม่สนใจที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ใช่  แต่พวกเขาจะมีความกระตือรือร้นหากเป็นการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เขาต้องการ ตนเคยสอบถามคนรุ่นใหม่ เขาเรียกประชาธิปไตยที่เห็นตั้งแต่เล็กจนโตว่า 4 second democracy แค่4 นาทีที่คุณหย่อนบัตร หลังจากนั้นก็หมดไป

ซึ่งเขาต้องการสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า deliberative democracy ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น ได้ร่วมถกแถลงในประเด็นปัญหาต่างๆอย่างเป็นระบบหาข้อสรุปเพื่อโน้มน้าวกลุ่มผู้เห็นต่าง นั่นแหละคือสิ่งที่จะทำให้พวกเขาจะมีแรงบันดาลใจในการต่อสู้และเข้าร่วมอย่างแข็งขัน เราต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นจุดที่ประชาธิปไตยเป็นของปวงชนไม่ใช่ของกลุ่มการเมืองไม่กี่กลุ่มหรือครอบครัวไม่กี่ตระกูล

อย่างไรก็ตาม จากสถานภาพที่ยากลำบากในการดำรงชีพและหนี้สินที่เพิ่มทวีของประชาชนหลังการแพร่ระบาดของโควิดประชาชนในระดับชั้นกลางและระดับฐานรากของประเทศตกอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคงและสุ่มเสี่ยงต่อสถานะการดำรงชีพในอนาคต โดยที่ไม่มีหลักประกัน เกษตรกรและเกษตรกรรมของประเทศ กำลังเผชิญกับความผันผวนที่มากขึ้นเรื่อยๆของสภาวะอากาศและภัยธรรมชาติที่หนักขึ้นทุกปี

อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน แรงงานทั้งระบบกำลังเผชิญความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงคือการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI และหุ่นยนตร์ ในขณะที่การเตรียมการเพื่อการเปลี่ยนผ่านยังไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ ปัญหาเหล่านี้ทุกคนทราบ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองที่เพียงพอทั้งๆที่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเริ่มเผชิญกับมันแล้ว นี่ยังไม่นับความไม่เท่าเทียมด้านสังคมอื่นๆทั้ง การศึกษา สาธารณสุข การเข้าถึงเทคโนโลยีในยุคดิจิตอลรวมไปถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศและผู้ด้อยโอกาสที่รอรับการดูแลแก้ไข

  • สถาบันการศึกษาต้องไม่แยกส่วนกับปัญหาบ้านเมือง

สถาบันศึกษา จากนี้ไปจะไม่สามารถอยู่อย่างแยกส่วนกับปัญหาบ้านเมืองได้อีกแล้ว สถาบันศึกษาเป็นบ่อเกิดของความรู้และปัญญา ทรัพยากรจึงต้องจัดสรรและขับเคลื่อนให้ได้ปัญญาที่แท้จริงที่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ การแสวงหาความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับโลก เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าขาดความสนใจสร้างปัญญา และใช้ปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นปัญหาเหมือนกัน

"สถาบันศึกษายังเป็นแหล่งผลิตบุคลากรในหลากหลายสาขา สถาบันศึกษาต้องไม่ใช่เพียงการรับเด็กนักศึกษาและสอนเด็กให้จบออกไปใน4 ปีเพื่อประกอบอาชีพทำมาหากิน แต่ต้องเตรียมสร้างบุคลากรในสาขาที่บ้านเมืองต้องการเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ ที่สำคัญที่สุด ต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการปลูกฝังจิตสำนึกและแรงบันดาลใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนแก้ไขและกอบกู้ในหลากหลายมิติ" ดร.สมคิด กล่าว

นอกจากนั้น สถาบันศึกษาสามารถกระตุ้นส่งเสริมและปลูกฝังให้นักศึกษาเป็นผู้นำในบทบาทแห่งการขับเคลื่อนได้เลยตั้งแต่พวกยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และต้องให้จิตรวิญญาณนี้แพร่ขยายออกไปให้สังคม สร้างความตื่นตัวและร่วมมือในวงกว้างคู่ขนานไปกับบทบาทภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว นี่คือบทบาทของธรรมศาสตร์และจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ที่จะต้องก้าวนำการข้บเคลื่อนเปลี่ยนแปลงปฏิรูปบ้านเมืองในยุคข้างหน้า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้คนไทย