"ปลดล็อกกัญชา" กัญชง อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ?

"ปลดล็อกกัญชา" กัญชง อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ?

ประเด็น "ปลดล็อกกัญชา" กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และดูแลสุขภาพ ประชาชนสามารถทำหรือไม่สามารถทำอะไรได้บ้าง และต้องขออนุญาตกับ อย. เรื่องใดบ้าง ไปดูกันเลย

จากรณี "ปลดล็อกกัญชา" กัญชง อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อ 9 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อ ยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา ได้แก่ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชา ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไปนั้น

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวมสิ่งที่ประชาชนสามารถทำหรือไม่สามารถทำอะไรได้บ้าง และต้องขออนุญาตกับ อย. เรื่องใดบ้าง ดังนี้

การปลดล็อกกัญชาครั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้ประชาชน "ปลูกกัญชา" และ "มีพืชกัญชาไว้ในครอบครอง" ได้ ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใด ก็ไม่มีความผิด โดยเน้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่เน้นสันทนาการ

"ปลดล็อกกัญชา" สิ่งที่ทำได้  ได้แก่

  • ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ต้องมีการจดแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ"
  • ครอบครองกัญชาได้ ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ราก ลำต้น ครอบครองสารสกัดที่มีปริมาณ THC ไม่เกิน 0.2%
  • ขายส่วนของพืชกัญชาได้ เช่น ใบ ดอก ลำต้น
  • ขายสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2%

\"ปลดล็อกกัญชา\" กัญชง อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"ปลดล็อกกัญชา" สิ่งที่ทำไม่ได้  ได้แก่

  • ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ กลิ่นหรือควัญเป็นเหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
  • ห้ามใช้ และจำหน่ายแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
  • ห้ามครอบครอง "สารสกัดกัญชา" ที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่มีใบสั่งแพทย์ ไม่ผ่านการรับรองโดย อย. ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

"ปลดล็อกกัญชา" สิ่งที่ต้องขออนุญาต

  • การขายเมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ และต้นกล้า ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • การซื้อขายสารสกัดที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% ต้องมีใบอนุญาตยาเสพติดให้โทษทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย
  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง ผลติภัณฑ์สมุนไพร ยาจากกัญชา กัญชง ต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

\"ปลดล็อกกัญชา\" กัญชง อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ?

ทั้งนี้เมื่อถามว่า ประเทศไทย "ปลดล็อกกัญชา กัญชง" ไม่เป็นยาเสพติดแล้ว ประชาชนสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัด หรือส่วนของกัญชา กัญชง ไปต่างประเทศ ได้หรือไม่?

ตอบ : ทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประเทศที่เดินทางไป โดยต้องศึกษากฎหมายของประเทศปลายทางก่อน

 

นอกจากนี้ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า การโฆษณายาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง ต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน สำหรับการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ และสรรพคุณของอาหารต้องขออนุญาตก่อน

โดยต้องไม่สื่อให้เข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรบริโภคได้ และต้องไม่แสดงให้เห็นถึงผลของกัญชา กัญชง ที่นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น หัวเราะได้แบบไม่รู้ตัว ช่วยให้เคลิบเคลิ้ม เป็นต้น

ทั้งนี้ ให้แสดงคำเตือนในสื่อโฆษณา เช่น “อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค” “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” หากพบการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับการโฆษณายาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน และต้องไม่แสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินจริง หรือทำให้เข้าใจผิด หากพบการโฆษณาที่ฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของเครื่องสำอาง ไม่ต้องขออนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่แสดงสรรพคุณเป็นเท็จ เกินจริง หรือทำให้เข้าใจผิด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบผู้กระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลได้ที่สายด่วน อย. 1556