พลังแห่งกัญชา ญี่ปุ่นพร้อมใช้สารสกัดซีบีดี

พลังแห่งกัญชา ญี่ปุ่นพร้อมใช้สารสกัดซีบีดี

ญี่ปุ่นไม่ใช่สวรรค์สำหรับกัญชาเพราะกฎหมายเข้มงวด การใช้ยาเสพติดชนิดนี้ถือเป็นตราบาปร้าวลึก รัฐบาลเดินหน้าควบคุมการเสพกัญชาให้เข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีกแต่ยอมรับการใช้สารสกัดซีบีดี

ที่คลับแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ไอ ทาคาฮาชิ นักเต้นวัย 33 ปี และเพื่อนฝูงกำลังเคลิ้มกับซีบีดี สารสกัดจากกัญชาที่ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ตอนนี้กำลังเป็นเทรนด์ยอดนิยมทั่วโลกและกำลังมาแรงในญี่ปุ่น

“ตอนฉันยังเด็ก โรงเรียนและทุกๆ ที่สอนว่า ห้ามยุ่งกับกัญชาเด็ดขาด แล้วฉันก็เชื่อ แต่เมื่อเป็นแฟนเรกเก้ตัวยง ฉันก็มีโอกาสสูบเวลาไปเที่ยวในที่ที่กัญชาถูกกฎหมาย” ทาคาฮาชิกล่าวกับเอเอฟพี เธอหันมาสนใจสารสกัดซีบีดี ซึ่งถูกกฎหมายในญี่ปุ่นหากสกัดจากเมล็ดหรือลำต้นที่โตเต็มที่ แต่หากสกัดจากส่วนอื่น เช่น ใบ ถือว่าผิดกฎหมาย

ตอนที่ทาคาฮาชิสนับสนุนให้มารดาผู้กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้าทดลองใช้สารสกัดซีบีดี เธอได้พบความแตกต่าง จนเชื่อมั่นในพลังของกัญชา

ซีบีดีขายในรูปของบุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่ม หรือขนมในคาเฟ่พิเศษ ร้านค้าสุขภาพ หรือแม้แต่ร้านค้าในสนามบินหลักของกรุงโตเกียว

บริษัทวิจัยวิชันกราฟในกรุงโตเกียวประเมินว่า อุตสาหกรรมซีบีดีของญี่ปุ่นมีมูลค่า 59 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านดอลลาร์ในปี 2558 และรัฐบาลกำลังหารืออนุมัติยาที่ได้จากกัญชาที่หลายประเทศอนุมัติไปแล้วสำหรับรักษาหลายโรค เช่น โรคลมบ้าหมูรุนแรง  แม้มีความสนใจถึงประโยชน์ของกัญชาต่อสุขภาพ แต่ญี่ปุ่นไม่อ่อนข้อให้กับการใช้อย่างผิดกฎหมายการจับกัญชาทุบสถิติในแต่ละปี

อย่าสูบนอกบ้าน

ด้วยท่าทีที่แตกต่างทำให้โนริฮิโกะ ฮายาชิ ที่ขายสินค้ามีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชา เช่น ซีบีดีและซีบีเอ็น ในบรรจุภัณฑ์สีดำและสีเงินเพื่อแนะนำการใช้

“มันถูกกฎหมาย แต่เราขอให้ลูกค้าหาความสุขกันที่บ้าน อย่าสูบนอกบ้านบนท้องถนน” ผู้ค้าวัย 37 ปีกล่าว เธอคิดว่าสุดท้ายแล้วญี่ปุ่นจะค่อยๆ อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนการใช้เพื่อสันทนาการเธอคิดว่าเป็นไปไม่ได้

“ไม่มีทาง ในร้อยกว่าปีนี้ไม่มีแน่ เผลอๆ ฉันคงตายไปก่อน” ฮายาชิให้ความเห็น

ปัจจุบันประเทศที่ผ่อนคลายกฎหมายการใช้กัญชามีมากขึ้น ตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงแอฟริกาใต้ล่าสุดคือไทย แต่ยาเสพติดยังคงเป็นตราบาปในญี่ปุ่น คนดังถ้าถูกจับได้ว่าใช้ยาเสพติดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดแฟนคลับและต้นสังกัดเลิกสนับสนุนทันที

ประชาชนญี่ปุ่นเพียง 1.4% บอกว่าเคยลองกัญชา เทียบกับกว่า 40% ในฝรั่งเศสและราว 50% ในสหรัฐ กระนั้นการจับกัญชาก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาเกือบสิบปี ปีก่อนจับได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 5,482 ครั้ง ผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหรือวัย 20 ปีเศษ

“อินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยข้อมูลบิดเบือนบอกว่ากัญชาไม่เป็นอันตราย ไม่เสพติด” มาซาชิ ยามาเน เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

กระทรวงเตือนว่า สารที่ทำให้เกิดความผิดปกติขณะเสพอย่างทีเอชซีที่พบในกัญชา อาจลดทอนความสามารถในการเรียนรู้ การควบคุมกล้ามเนื้อ และอาจเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต

กฎหมายแรง

เพื่อแก้ปัญหานี้ทางการจึงพยายามปิดช่องโหว่ ที่เดิมทีตั้งใจใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตกรถูกจับกุมฐานสูดควันขณะปลูกกัญชงเพื่อทำเชือก จึงเท่ากับว่าในทางเทคนิคการเสพกัญชาในญี่ปุ่นถูกกฎหมาย แต่การครอบครองมีโทษจำคุกห้าปีต่อมาเพิ่มเป็นเจ็ดปี และอาจถูกปรับไม่เกิน 2 ล้านเยนถ้าขาย ถ้าปลูกหรือลักลอบนำเข้ามีโทษแรงกว่า

กฎหมายควบคุมกัญชาของญี่ปุ่นใช้มาตั้งแต่ปี 1948 ระหว่างการยึดครองของสหรัฐช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

มิเรียม คิงส์เบิร์ก คาเคีย อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ผู้ศึกษายาเสพติดในญี่ปุ่นกล่าวว่า สหรัฐมองว่ากัญชาเป็นปัญหาและภัยคุกคาม แม้การเสพจะมีจำกัดและเป็นตราบาปอย่างมาก กฎหมายที่เข้มงวดจึงสร้างปัญหาในชีวิตจริงพอล แมคคาร์ทนีย์ จากเดอะบีเทิล เคยถูกควบคุมตัวในญี่ปุ่นเก้าวันในปี 2523 หลังพบกัญชาในสัมภาระของเขา

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่แตกต่างจากประเทศอื่นในเอเชีย ที่การใช้กัญชามีโทษอย่างหนัก อย่างกรณีไทยแม้อนุญาตให้ครอบครองและปลูกกัญชาได้ภายใต้แนวทางการปฏิบัติอันซับซ้อน แต่ยังไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการ และแม้ญี่ปุ่นอาจอนุญาตให้ใช้ยาที่ทำจากกัญชาได้เร็วสุดในปีนี้ แต่มีสัญญาณเล็กน้อยว่านักการเมืองหรือประชาชนจะสนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎหมายเพิ่มอีก

“กัญชาถูกมองว่าเป็นสิ่งที่พวกผิดกฎหมายชื่นชอบ ส่วนตัวไม่ได้มองแบบนั้น ยอมรับว่ามีคนสนใจกัญชาด้วยเหตุผลทางการแพทย์และสุขภาพ แต่ใช่ว่าสังคมทั้งหมดจะมองแบบนี้เหมือนกัน” เรียวได เนโมโตะ ลูกจ้างวัย 21 ปี จากร้านซีบีดีในอิบารากิใกล้กรุงโตเกียวกล่าว