หลัง "ปลดล็อกกัญชา" ชวนส่องสรรพคุณ "กัญชา" ทางการแพทย์

หลัง "ปลดล็อกกัญชา" ชวนส่องสรรพคุณ "กัญชา" ทางการแพทย์

"ปลดล็อกกัญชา" 9 มิ.ย.65 อนุญาตให้ประชาชนปลูก และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยวัตถุประสงค์หลักคือ มุ่งใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ชวนเปิดลิสต์สรรพคุณ "กัญชา" ว่ามีส่วนช่วยบรรเทาโรคใดบ้าง?

ประเทศไทยประกาศ "ปลดล็อกกัญชา" อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อ 9 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา นอกจากอนุญาตให้ปลูกได้ไม่ผิดกฎหมายแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วนของต้นกัญชา สำหรับประชาชนที่ปลูกต้องลงทะเบียนจดแจ้งกับ อย. ผ่านแอป "ปลูกกัญ" โดยเป้าหมายหลักคือ ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และดูแลสุขภาพ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่อง สรรพคุณ"กัญชาทางการแพทย์" ที่มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ พบว่า มีส่วนช่วยรักษา และบรรเทาอาการของโรคร้ายแรงได้หลายโรค อีกทั้งมีสรรพคุณเด่นเรื่องการช่วย "คลายเครียด" และบรรเทาความวิตกกังวลได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

1. "ปลดล็อกกัญชา" ส่วนไหนใช้ได้ไม่ผิดกฎหมาย?

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านป้องกันปราบปราม (รอง ผบ.ตร.ปป.) และ ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 พืชกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด แต่ก็ยังมีข้อควรรู้และข้อจำกัด ได้แก่ 

  • ส่วนที่ไม่ใช่สารเสพติด ไม่ผิดกฎหมาย คือ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ สดหรือแห้ง ยางกัญชา กาก/เศษเหลือจากการสกัดกัญชา 
  • ส่วนที่เป็นสารเสพติดผิดกฎหมาย คือ สารสกัดจากกัญชา/กัญชง ที่มีปริมาณ THC เกิน 0.2% 
  • สูบกัญชาทำได้ แต่ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ หากรบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท 

2. "ปลดล็อกกัญชา" อะไรทำได้-ทำไม่ได้บ้าง?

การปลดล็อกกัญชาครั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้ประชาชน "ปลูกกัญชา" และ "มีพืชกัญชาไว้ในครอบครอง" ได้ ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใด ก็ไม่มีความผิด โดยเน้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่เน้นสันทนาการ โดยสิ่งที่ทำได้-ทำไม่ได้ ได้แก่

  • ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ต้องมีการจดแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ"
  • การปลูกในเชิงพาณิชย์ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • ห้ามใช้/จำหน่าย "สารสกัดกัญชา" ที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่มีใบสั่งแพทย์ ไม่ผ่านการรับรองโดย อย. ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
  • การขายหรือส่งออกทำได้ แต่ต้องขออนุญาตจาก อย. ห้ามขายแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร
  • การนำเข้าทำได้ แต่ให้เฉพาะจุดประสงค์เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์เท่านั้น 

หลัง \"ปลดล็อกกัญชา\" ชวนส่องสรรพคุณ \"กัญชา\" ทางการแพทย์

 

3. เปิดสรรพคุณ "กัญชาทางการแพทย์" มีงานวิจัยรองรับ

ดร.ภญ.ผกาทิพย์ รื่นระเริงศักดิ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "สรรพคุณกัญชา" ในบทความวิชาการซึ่งระบุว่า มีงานวิจัยจากต่างประเทศหลายชิ้น ระบุว่า สารสกัดกัญชา สามารถช่วยบรรเทาโรคต่างๆ ได้หลายโรค ได้แก่ 

ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการได้รับเคมีบำบัด

สาร Nabilone และ Dronabinol เป็นสารสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธ์ของสาร THC (สารสำคัญจากกัญชา) ซึ่งมีผลการวิจัยทางคลินิกยืนยันว่า Nabilone มีประสิทธิภาพในการลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้ดีกว่ายาอื่นๆ ในขณะนั้น และได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศแคนาดาตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 (พ.ศ. 2525) อีกทั้งยังได้รับการอนุมัติให้ขายในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528)

เพิ่มความอยากอาหาร ในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์

ผลการวิจัยพบว่าสาร THC สามารถช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ให้ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ เมื่อมีการทดลองใช้ทางคลินิกเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ และได้รับการอนุมัติให้ใช้สาร Dronabinol ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสาร THC เพื่อเพิ่มความอยากอาหารได้ในประเทศแคนาดา

ลดอาการปวด ทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง

สารในกลุ่ม THC สามารถใช้ลดอาการปวดแบบฉับพลันและแบบเรื้อรัง โดยได้มีการทดลองทางคลินิกและพบว่าสาร THC ในขนาด 2.5 หรือ 2.7 มิลลิกรัม สามารถช่วยลดอาการปวดเรื้อรัง (central neuropathic pain) เช่น อาการปวดข้อ ช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น (แต่สำหรับอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยมะเร็ง ยังไม่มีข้อสรุปทางคลินิกที่ชัดเจน)

ลดอาการปลอกประสาทเสื่อม (Multiple sclerosis, MS)

MS เป็นความผิดปกติทางระบบประสาท ซึ่งมักเกิดร่วมกับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดรุนแรงและมีอาการปวดแบบเรื้อรัง มีการทดสอบทางคลินิกพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาที่มีสาร THC และ CBD แล้วช่วยลดอาการปวดลงได้จริง โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง (พบการสั่งจ่ายยานี้ในแคนาดา อังกฤษ และอเมริกา)

ช่วยควบคุมอาการลมชัก (Epilepsy)

มีการศึกษาวิจัยการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อช่วยควบคุมอาการจาก "โรคลมชัก" มีการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ประสบปัญหาไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ เมื่อให้ "ยากันชัก" ร่วมกับการให้ "สาร CBD" 200-300 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 8-18 สัปดาห์ พบว่า 37% ของผู้ป่วย ไม่เกิดอาการชักตลอดการศึกษา และอีก 37% มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามมีผลข้างเคียงจากสาร CBD คือ ทำให้มีอาการง่วงนอน 

หลัง \"ปลดล็อกกัญชา\" ชวนส่องสรรพคุณ \"กัญชา\" ทางการแพทย์

ลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหิน

ต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของขั้วประสาทตา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้ เนื่องจากมีความดันในลูกตาสูง มีการศึกษาความสามารถของสาร THC, 0.01-0.1% เพื่อช่วยลดความดันในลูกตา พบว่า ช่วยลดความดันในลูกตาของผู้ป่วยต้อหินได้จริง แต่เป็นการออกฤทธิ์ในระยะสั้น 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น 

ป้องกันและรักษาอาการสมองฝ่อ

หลังจากมีการค้นพบ Cannabinoid receptors (CB1, CB2) ในปี ค.ศ.1988 (พ.ศ. 2531) และจากผลการวิจัยต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน พบความเป็นไปได้ในการใช้สารกลุ่ม acid cannabinoids และ endocannabinoids ในการรักษาความผิดปกติทางสมอง เช่น โรคฮันติงตัน (สมองเสื่อม), พาร์กินสัน, อัลไซเมอร์, สโตรก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงปริมาณของ CB1 และ CB2 ในเซลล์สมอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจน

คลายความวิตกกังวล

มีรายงานการทดสอบทางคลินิก พบว่า การใช้สาร Fatty acid amide hydrolase inhibitors (FAAH inhibitors) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Endocannabinoids หนึ่งในสารสำคัญในกัญชา มีความสามารถในการลดอาการวิตกกังวลได้ ปัจจุบันสารหลายชนิดในกลุ่มนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบทางคลินิก

การรักษามะเร็ง

ในปีค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) Munson et al. เป็นนักวิจัยกลุ่มแรกที่รายงานว่าสาร THC สามารถยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดและยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกมะเร็งในหนูทดลองได้

หลังจากนั้นได้มีการวิจัยเพิ่มขึ้นในเรื่องดังกล่าว พบว่า สารหลายชนิดในกลุ่ม Cannabinoids (THC, CBD) และ Endocannabinoids สามารถต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ได้ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังพบว่าสาร Cannabinoids เมื่อให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด สามารถช่วยลดการเติบโตของ "เนื้องอกสมอง" ได้อย่างดี 

---------------------------------------

อ้างอิง : อย. กระทรวงสาธารณสุข, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ (8 มิ.ย. 65), คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์