ไทยแสดงความจำนงสนใจ “วัคซีนฝีดาษวานร”

ไทยแสดงความจำนงสนใจ “วัคซีนฝีดาษวานร”

ไทยแสดงความจำนงสนใจ “วัคซีนฝีดาษวานร” เป็นการเตรียมพร้อม แต่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ เหตุความรุนแรงไม่ได้มาก ส่วนวัคซีนโควิด-19 ยันส่งไปพื้นที่ยังไม่หมดอายุแน่นอน ส่วนคาอยู่ที่พื้นที่แล้วหมดอายุเป็นไปได้  ต้องทำลายตามระเบียบเหมือนเวชภัณฑ์-ยาอื่นๆ

  เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า  ประเทศไทยมีการหารือกับหลายประเทศ และเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2565 กรมได้หารือกับรองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) ร่วมกัน โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และ เตรียมการเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรรุ่นใหม่ รวมถึง องค์การเภสัชกรรม(อภ.)ได้ประสานไปยัง 2 บริษัทผู้ผลิตที่มีการวิจัย ทดลอง ผลิตอยู่ เพื่อเตรียมการแล้ว           โดยติดตามความก้าวหน้า และแสดงเจตจำนงว่าหากวัคซีนมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ประเทศไทยแสดงความจำนงสนใจ เนื่องจากการจะนำวัคซีนมาใช้จะต้องดูในเรื่องประสิทธิภาพ  ผลข้างเคียง  สถานการณ์ระบาด และความสามารถในการจัดหา ทั้งหมดเป็นการเตรียมการไว้ แต่ยังไม่จำเป็นต้องใช้  เนื่องจากขณะนี้ฝีดาษวานร ดูเหมือนระบาดได้  แต่ความรุนแรงไม่ได้มาก ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

     ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาระบุว่ามีส่งวัคซีนโควิด-19 ไปไว้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จนล้น รอวันหมดอายุ  นพ.โอภาส กล่าวว่า การจัดส่งวัคซีนเป็นการตกลงกันระหว่างต้นทางกับปลายทาง ทั้งเรื่องของจำนวนและชนิดของวัคซีน เพราะวัคซีนทุกชนิดมีรูปแบบการจัดเก็บที่แตกต่างกัน โดยปลายทางที่จัดส่งคือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไม่ได้กระจายตรงไปที่รพ.สต. แต่จังหวัดจะเป็นผู้บริหารจัดการภายใน หากมีรพ.สต.ที่ไหนวัคซีนล้น หมดอายุก็ขอให้แจ้งมาจะได้ทำการสอบถามไปที่ สสจ. ถึงการบริหารจัดการ  ส่วนที่ระบุว่ามีวัคซีนซิโนแวคเหลือจำนวนมากกว่า 16 ล้านโดสนั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะใน 16 ล้านโดส เป็นซิโนแวคเหลือไม่ถึงล้านโดส  ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนกา และไฟเซอร์  

     “วัคซีนที่ส่งไปยังไม่หมดอายุ สามารถฉีดได้  อย่าเข้าใจว่าวัคซีนหมดอายุแล้วไม่มาฉีดกัน จึงต้องขอให้มาฉีดวัคซีนกันด้วย เท่าที่ติดตามตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่ารพ.สต.ที่ไหนวัคซีนล้น ส่วนวัคซีนที่หมดอายุระหว่างอยู่ที่พื้นที่อาจจะมีบ้าง รายละเอียดก็ต้องสอบถามไปที่จังหวัดซึ่งวัคซีนก็เหมือนเวชภัณฑ์ ยา ต่างๆ ที่มีวันหมดอายุได้ เมื่อหมดอายุก็จะมีการทำลายตามระเบียบต่อไป เป็นเรื่องปกติ”นพ.โอภาสกล่าว    

      ผู้สื่อข่าวถามถึงการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ในปี 2565 ที่มีการอนุมัติซื้อแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 36 ล้านโดส ที่เหลือมีรอบการจัดส่งอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า  มีการปรับขยายระยะเวลาในการจัดส่งวัคซีนที่เหลือไปในปี 2566 ซึ่งการฉีดจากนี้ก็จะเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งรอองค์การอนามัยโลกประกาศว่าจะให้มีการฉีดวัคซีนโควิด- 19 ทุกปี หรือไม่อย่างไร ซึ่งไทยมีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว หากปี 2566 จะต้องฉีดเข็มกระตุ้นทุกคนก็มีวัคซีนเพียงพอ