"Pride Month 2022" กับวิสัยทัศน์ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นโยบายเพื่อ LGBTQIA+

"Pride Month 2022" กับวิสัยทัศน์ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”  นโยบายเพื่อ LGBTQIA+

เข้าสู่ช่วง "Pride Month" เดือนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงขอชวนรู้ นโยบายเพื่อ LGBTQIA+ ของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด มีเรื่องใดบ้าง?

เข้าสู่ช่วง "Pride Month" 🏳️‍🌈 เดือนแห่งการเฉลิมฉลองให้กับผู้ที่มี “ความหลากหลายทางเพศ” เพื่อให้ผู้ที่มีเพศวิถีที่แตกต่างได้ยอมรับและภูมิใจในการเป็นตัวเอง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 65 “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ได้เดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองและสนับสนุนงาน “Samyam Mitr Pride 100% Love” โดยได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า เรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลาย การแต่งตัว การคุกคามทางเพศ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในนโยบาย จะมีการผลักดันออกมาอย่างแน่นอน รวมถึงการสนับสนุนการผลิตซีรีส์วายด้วย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ “นโยบายเพื่อ LGBTQIA+ ของผู้ว่าฯ กทม.” คนนี้มีเรื่องใดบ้าง?

1. นโยบายข้อที่ 9 หน่วยงาน กทม.เข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ

ประเด็นเรื่องการยอมรับความหลากหลายในสังคมไทยยังมีเงื่อนไขหลายอย่างซึ่งไม่ได้แสดงถึงความเท่าเทียมกัน หน่วยงานกทม.ในฐานะภาครัญจึงต้องให้ความสำคัญ โดยจะมีการริเริ่มดังเช่น 

  • กำหนดหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานกทม. ให้ยอมรับอย่างเท่าเทียม ไร้เงื่อนไข
  • อบรมเจ้าหน้าที่หน่วยงานกทม. ให้มีความเข้าใจและยอมรับเรื่องเพศวิถีและความหลากหลายอย่างแท้จริง
  • สามารถร้องทุกข์เมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
  • สนับสนุนการแสดงออกที่หลากหลาย ไม่บังคับแต่งชุดเครื่องแบบตามเพศกำเนิด สามารถใส่ได้ตามสะดวกใจ
  • มีกฎที่ป้องกันการคุกคามทางเพศของหน่วยงานกทม.

2. นโยบายข้อที่ 15 นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย

ที่ผ่านมา สถานบริการเรื่องสุขภาพมีการปฏิบัติกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างไม่เป็นมิตร ได้สร้างความกังวลต่อกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้คนหลายจำนวนไม่ได้รับการรักษาและคำแนะนำเป็นอย่างดี

ในอนาคตจึงจะผลักดันให้มี “ศูนย์ด้านสุขภาพของกลุ่มความหลากหลาย” ให้มากขึ้น ซึ่งสามารถปรึกษาได้ตั้งแต่เรื่องการใช้ยา-ฮอร์โมน การผ่าตัดแปลงเพศ คำปรึกษากลุ่มคนข้ามเพศ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

-----------------------------------------------

อ้างอิง: เว็บไซต์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์