ชวนครูไทย เรียนรู้ 4 Mega Trends นวัตกรรมเพื่อการศึกษาเด็กยุค "Metaverse”

ชวนครูไทย เรียนรู้ 4 Mega Trends นวัตกรรมเพื่อการศึกษาเด็กยุค "Metaverse”

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 สำหรับโครงการ “Kid Rangers ชวนครูวิทย์-คณิต มาคิดให้ Wow” จัดโดยศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและครอบครัว ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

พร้อมด้วยเปิดตัว “โครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็กยุค Metaverse”  ซึ่งถือเป็นกรสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการศึกษา เครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนให้ครูทั้งระดับปฐมวัย ประถมศึกษา ภายใต้โครงการ “Kid Rangers ชวนครูวิทย์-คณิต มาคิดให้ Wow” และโครงการ  “KIDDY CODE สนุกโค้ด สนุกคิด”

ด้วยโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการศึกษา ซึ่ง “Mega Trends” ได้เข้ามาก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การเตรียมความพร้อม ส่งเสริมและพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ย่อมมีความจำเป็นอย่างมาก และ “ครู” ถือเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ การส่งเสริมครูให้มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ชวนครูไทย เรียนรู้ 4 Mega Trends นวัตกรรมเพื่อการศึกษาเด็กยุค "Metaverse”

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.)กล่าวว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด คือ การลงทุนกับเด็ก ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เพื่อให้เด็กออกมามีความสุข ความเฉลียวฉลาด และมีภูมิคุ้มกัน โดยเด็กจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และอนาคตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย และเด็กประถม ที่ถือเป็นการลงทุนอย่างคุ้มค่า

 

  • ชวนครูวิทย์-คณิต เรียนรู้Coding และ Unplugged Coding

โครงการ“Kid Rangers ชวนครูวิทย์-คณิต มาคิดให้ Wow” และโครงการ  “KIDDY CODE สนุกโค้ด สนุกคิด โดยเฉพาะเรื่องของ Coding และ Unplugged Coding ซึ่ง Unplugged Coding คือ การcoding ที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือการเรียน Coding ที่ไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องลงทุน ทุกอย่างมีอยู่ในตัวเรา สมองของเด็กจะเน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ อย่างสนุก แก้ปัญหาชีวิตประจำวัน ซึ่งกิจกรรมของเด็ก นั่นคือ เล่น กิน นอน โดย Unplugged Coding เป็นสิ่งที่เงินไม่สามารถหาซื้อได้ อยากได้ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง” คุณหญิงกัลยา กล่าว

ส่วนการเรียน Unplugged Coding ถือเป็นการเล่นที่ก่อนเล่นต้องคิด เช่น หากเราจะเล่นเรือยนต์ รถไฟ จรวด ต้องคิดก่อนว่าจะหยิบวัสดุ อุปกรณ์อะไรที่จะทำให้เราได้เล่น ซึ่งกระบวนการตรงนี้ จะทำให้เด็กเกิดกระบวนการคิด และต้องวางแผน ว่าจะใช้อะไรบ้าง และประกอบอย่างไรถึงจะทำให้เราเล่นได้  

ชวนครูไทย เรียนรู้ 4 Mega Trends นวัตกรรมเพื่อการศึกษาเด็กยุค "Metaverse”

หรือพ่อแม่ที่ไม่มีเงินซื้อของเล่นให้แก่ลูก ก็สามารถใช้อุปกรณ์ในครัวเรือน  เช่น แม่บอกให้ลูกสร้างบ้านโดยใช้อุปกรณ์ในครัว ซึ่งก่อนจะที่เด็กจะสร้างได้ เขาต้องคิดและจินตนาการ ว่าเขาสามรารถใช้อุปกรณ์ในครัวอะไรได้บ้าง และเมื่อลงมือทำ ทำผิดสามารถทำใหม่ได้

“การให้เด็กได้จินตนาการ คิดวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล เป็นขั้นเป็นตอนเชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กล้าตัดสินใจ ลงมือทำ ทำผิดทำใหม่ได้ ล้วนเป็นทักษะที่เด็กควรจะมี และโลกสมัยใหม่ต้องการ เมื่อเขาได้เรียนรู้เรื่อยๆ ก็จะทำให้เขาคิดเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน และแก้ปัญหาที่ซ้บซ้อนได้มากยิ่งขึ้นคุณหญิงกัลยา กล่าว

 

  • Unplugged Coding การเรียนรู้คิดวิเคราะห์ ที่ไม่ต้องลงทุน

การเรียนรู้ของเด็กแบบ Unplugged Coding พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องลงทุน แต่สามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในบ้านมาสร้างจินตนาการ ระบบคิดให้แก่เด็ก การแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันตามช่วงวัยช่วงอายุ รวมถึงงานบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ซักผ้า ตากผ้า  การทอดไข่ ล้วนทำให้เกิดการเรียนรู้ Unplugged Coding ได้ทั้งสิ้น

“Unplugged Coding” ไม่ต้องลงทุน ใช้สมองสร้างกระบวนการคิดของแต่ละคนและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก มีความสามารถคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล เชิงตรรกะให้ได้ ก่อนจะออกไปเผชิญสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ผันผวน ในโลกเสมือน โลกที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หากเด็กมี Unplugged Coding เราจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเขาได้ฝึกฝนแล้ว เด็กก็จะปลอดภัยในโลกกว้างต่อไปในอนาคต

รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่าการเรียน Unplugged Coding เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ตนเอง  และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัว  และการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในกลุ่มเด็กเท่านั้น ทุกช่วงวัยสามารถเรียนรู้ Unplugged Coding ได้ตลอดเวลา เพราะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ  วางแผน และแก้ปัญหาตนเอง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ครอบครัว แก่งาน เป็นทักษะที่ทุกคนต้องมี

ชวนครูไทย เรียนรู้ 4 Mega Trends นวัตกรรมเพื่อการศึกษาเด็กยุค "Metaverse”

ปัจจุบันมีคนตกงานจำนวนมาก เป็นหมื่นเป็นแสนราย จนรัฐบาลต้องเอาเงินกู้ ไปจ้างบัณฑิตตกงาน ดังนั้น เมื่อใครๆ ก็ตกงานได้ จึงมี Coding สำหรับคนตกงาน  และต้องทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็ก โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นวิชาที่เด็กปฐมวัย ประถมศึกษาต้องมีเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ให้เด็กได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เป็นการสร้างเด็กไทยให้ปรับเปลี่ยน และแข่งขันได้ในอนาคต  

Coding ง่ายกว่าที่คิด พิชิตดิจิตอล เป็นระบบที่ทำให้เด็กเก่งและสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ ในอนาคตได้  และหากทุกคนมีทักษะ Coding แข็งแรงก็สามารถอยู่ในโลกเสมือน หรือ Metaverseได้

  • ผลิตสื่อสร้างสรรค์พัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทสไทย กล่าวว่า ไทยพีบีเอส เป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่มีเป้าหมายในการเป็นสื่อที่สร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม  ซึ่งจะครบรอบ 15 ปี ในเดือนม.ค.ปี2566 โดยสิ่งที่ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว  เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของการมีสื่อสารธารณะ  และเมื่อทำงานมาเรื่อยๆ มีเพื่อน มีเครือข่ายสนับสนุน มีแฟนคลับเติบโตไปกับไทยพีบีเอส จำนวนมาก

“การทำให้การเรียนการสอนต่างๆ เพื่อเด็กและครอบครัว ถูกสร้างสรรค์ออกแบบให้สนุกสนาน ความรู้อัดแน่น ความสนุกจัดเต็ม”รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

ชวนครูไทย เรียนรู้ 4 Mega Trends นวัตกรรมเพื่อการศึกษาเด็กยุค "Metaverse”

สำหรับ 2 โครงการ อย่าง โครงการ“Kid Rangers ชวนครูวิทย์-คณิต มาคิดให้ Wow”  ได้ดำเนินการมาปีนี้เข้าสู่ปีที 6 ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้มีคุณครูเข้าร่วมโครงการ 3,000 กว่าคน เป็นการตั้งใจพัฒนารายการ Kid Rangers  นำเสนอผ่านหน้าจอทีวี  เป็นการขยายรายการจากหน้าจอทีวี สู่ออนไลน์ และสู่กิจกรรมอบรมครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ปีนี้จะจัดผสมแบบออนไซต์และออนไลน์ เพื่อทำให้ครูได้รับความรู้และความสนุก ซึ่งขณะนี้มีครูลงทะเบียนเกือบ 1,500 คน คาดหวังว่าครูจะได้รับหลักการ และเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน  

ส่วนโครงการ KIDDY CODE สนุกโค้ด สนุกคิด มีการผลิตสื่อ และการ์ดเกมให้ครูได้เล่นร่วมกัน 3,000 โรงเรียน คาดหวังว่าความเป็นสื่อสาธารณะจะไม่ได้หยุดหน้าจอเพียงสื่อสร้างสรรค์ แต่จะเป็นการทำงานลงไปในโรงเรียน ครอบครัวมากขึ้น

  • เตรียมพร้อมครูไทย รับ 4 Mega Trends การศึกษาในอนาคต

4 Mega Trends กับการศึกษาไทยในโลกอนาคต จะมี 4 เรื่องสำคัญที่ครูไทยควรเตรียมความพร้อมเรียนรู้ เพื่อส่งต่อเนื้อหาเหล่านี้ให้เด็กนักเรียนในศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเด็กและพัฒนาโลกได้แก่ 

1. Jump to Metaverse for Innovative Learning กระโดดเข้าโลกเสมือนเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ของเด็ก 

2.เติมความรู้ สร้างทักษะ สู่สมรรถนะ หนูทำได้แก้ปัญหาเป็นแบบ STEAM 

3.โลกสวยและน่าอยู่ด้วยมือเรา แนวทางและกิจกรรมจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

4.โค้ดให้ม่วน ชวนให้คิด เสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 

 

ชวนครูไทย เรียนรู้ 4 Mega Trends นวัตกรรมเพื่อการศึกษาเด็กยุค "Metaverse”

นางวรินทร์เนตร เติมศิริกมล ผู้ผลิตรายการKid Rangersและผู้จัดทำทั้ง 2 โครงการ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดมาจากรายการKid Rangers ของไทยพีบีเอส ซึ่งจะนำเสนอรูปแบบบูรณาการการเรียนรู้ และ STEM ศึกษา ผ่านการทำกิจกรรมของเด็กๆ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กประถมศึกษา ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมเป็นทั้งออนไซต์และออนไลน์ โดยออนไลน์จะเป็นในช่วงโควิด-19 ดังนั้น ในปีที่ 6 นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จะจัดอบรมแบบไฮบริด ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออนไซต์ เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้เข้าร่วมอบรมมากที่สุด เป็นการนำสื่อเพื่อการเรียนรู้จากหน้าจอสู่ห้องเรียน 

"4 Mega Trends ทางการศึกษาจะมีการอบรมแบบออนไซต์ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย และจะมีการเปิดแบบออนไลน์เฉพาะให้ครูที่ลงทะเบียนเข้าร่วม ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของครูในเรียนรู้เทรนด์ใหม่ๆ ทางการศึกษา อันนำไปสู่การปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย รวมถึงมีการจัดทำการ์ดเกมให้แก่โรงเรียน 3,000 ชุดทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอเทคนิควิธีการสอนที่จะทำให้เด็กสนุกและมีความสุขในการเรียนรู้นางวรินทร์เนตร กล่าว

  • พัฒนาครู เรียนรู้สะเต็มศึกษา ช่วยแก้ปัญหา

ครูฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กล่าวว่า ครู เป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ ซึ่งหากส่งเสริมให้ครูมีศักยภาพ มีความพร้อมในการเรียนรู้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก อย่าง Mega Trends จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ 

รศ.ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปีนี้ทีมสะเต็มศึกษาได้ออกแบบกิจกรรม โดยยังเน้นการเรียนรู้ตามวิถีสะเต็มศึกษา ภายใต้สโลแกน "สนุกคิดพิชิตปัญหาด้วยสะเต็ม" เพื่อเป็นการมุ่งสร้างประสบการณ์ให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยการช่วยกันเรียนรู้ ทำงานเป็นทีม 

ชวนครูไทย เรียนรู้ 4 Mega Trends นวัตกรรมเพื่อการศึกษาเด็กยุค "Metaverse”

"พยายามออกแบบสถานการณ์ให้ครอบคลุมในมิติต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาสมรรถนะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โดยกิจกรรมจะครอบคลุมทั้งที่เกี่ยวกับคน สัตว์ สิ่งของ และสถานการณ์ที่อยู่ทั้งบนโลกและดาวอังคาร ซึ่งทักษะสะเต็มศึกษา จะช่วยให้เด็กสามารถแก้ปัญหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง" รศ.ดร.วรรณพงษ์ กล่าว

ด้าน ผู้ปกครอง กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นการอบรมให้ความรู้แก่คุณครู ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก  เพราะเมื่อมีการเตรียมความพร้อมครูเท่าทัน Mega Trends ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงก็จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ การเรียนรู้ให้เด็ก และการเรียน Coding หรือ Unplugged Coding เป็นการสร้างทักษะคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาแก่เด็ก ถือเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างมากในเด็กยุคปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อมูลข่าวสาร ความรู้มากมาย การปลูกฝังให้เขามีทักษะคิดวิเคราะห์ แยกแยะ คิดการแก้ปัญหาจะช่วยให้เขาอยู่ในโลกเสมือน หรือโลกที่มีการผันผวนตลอดเวลาได้