เปิดวงเสวนา”มหานครการศึกษา... Digital Economy ทิศทางอนาคต”

เปิดวงเสวนา”มหานครการศึกษา... Digital Economy ทิศทางอนาคต”

เสวนาการศึกษากรุงเทพฯอนาคต “อัศวิน”ย้ำทำคุณภาพเด็กดีก่อน ส่วนอธิการบดี มบส.แนะReskill -Upskillครูเก่า ครูยุคใหม่ไม่น่าห่วง ขณะ ที่depa ชี้โรงเรียนทั่วประเทศตื่นตัว Coding  

จากการเสวนานโยบายวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา หัวข้อ "มหานครการศึกษา... Digital Economy ทิศทางการศึกษาของกรุงเทพมหานครในอนาคต" ผ่านระบบออนไลน์ จัดโดยสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  นักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่มาจากครอบครัวระดับรากหญ้า หรือคนชั้นกลางลงไปถึงคนชั้นล่าง  รวมถึงเด็กต่างด้าวทางกทม.ก็รับเข้ามาเรียนหมด  

เปิดวงเสวนา”มหานครการศึกษา... Digital Economy ทิศทางอนาคต”

ขอย้ำว่าคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนสังกัด กทม. ไม่ค่อยดี ครอบครัวค่อนข้างยากจน บางครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ดังนั้นทางกทม.ก็พยายามปลุกจิตวิญญาณให้เด็กมีความหวัง   อยากจะเรียนหนังสือ  สร้างแรงบันดาลใจ  และให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กมากที่สุด  

ที่สำคัญต้องทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีก่อน ถ้าคุณภาพชีวิตของเด็กไม่ดีในอนาคตเด็กจะเป็นคนดีลำบาก และความรับผิดชอบจะหายไปครึ่งหนึ่ง  หากไม่ได้เรียนอีกจะยิ่งแย่   ซึ่งสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ก็จะต้องมีการสานต่อ และทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยด้วย 

 

  • ผลิตครูในมิติ Digital literacy

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า  เป็นโจทย์สำคัญของกทม.ที่จะเน้นการจัดการศึกษา เพื่อให้ได้ทรัพยากรที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องของ Digital literacy คือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล  

ส่วนการผลิตครูในมิติให้ได้ Digital literacy  ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายและนโยบายในการปฏิบัติ  โดยเฉพาะครูที่อยู่ในโรงเรียน ซึ่งครูเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่จะทำให้นักเรียนมีคุณสมบัติหรือลักษณะตามที่ต้องการ

เปิดวงเสวนา”มหานครการศึกษา... Digital Economy ทิศทางอนาคต”

ประเด็นสำคัญในการผลิตครู ต้องปฏิรูปกลไกในการผลิตครู  พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และเปลี่ยนโฉมการผลิตครูให้เป็นครูยุคใหม่ให้ได้  ซึ่งครูยุคใหม่ที่ผลิตออกมานั้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากนัก เพราะเน้นกระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูร่วมกับสถานศึกษาที่มีมาตรฐานที่จะให้เด็กไปทดลองใช้ความรู้ที่เรียนในชั้นเรียนโดยนำไปฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้เด็กรู้ว่าเค้าอ่อนเรื่องใด จะได้ไปเสริมด้านนั้น

รวมทั้งยังเน้น Digital literacy   ทักษะภาษาอังกฤษ  และทักษะต่าง ๆที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21  ดังนั้นเมื่อเด็กจบเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการผลิตหรือสร้างคุณภาพของเด็กที่พึ่งประสงค์ได้  สิ่งที่ฝ่ายบริหารต้องมาดูคือครูที่จบการศึกษาไปพอสมควรที่ต้อง Reskill   Upskill และ Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่บนโลกออนไลน์  ที่จะต้องใช้หน่วยงานมืออาชีพเข้ามาช่วยพัฒนาตลอดเวลา  

 

  • เทคโนโลยีช่วยการจัดการศึกษา สร้างรากฐายความคิด

ด้าน ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa)  กล่าวว่า  เทรนด์การศึกษาเปลี่ยนไปเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น   ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ก็รับลูกออกประกาศ ศธ. ให้ Coding เป็นรายวิชาเรียนใหม่ และบังคับให้เด็กตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมศึกษาต้องเรียนทั่วประเทศ 

การเรียน Coding เป็นการสร้างรากฐานความคิดให้เข้มแข็ง ช่วยให้เด็กคิดอย่างมีเหตุและผล สามารถต่อยอดทุกเรื่องได้  ที่ผ่านมาโรงเรียนทั่วประเทศก็ตื่นตัวการเรียน Coding  แต่ต้องยอมรับว่าโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนกทม.มีคุณภาพที่แตกต่างกันมาก และมีความพร้อมที่ไม่เท่ากัน

 ดังนั้น การศึกษาในอนาคตจะต้องเตรียมบุคลากรให้มีทักษะ Coding  ต้องมีเครื่องมือใช้ในการเขียน โปรแกรม คอมพิวเตอร์  และ เครื่องมือเสริม เช่น แบบฝึกหัด  ขณะที่ตัวครูต้องปรับจากการเป็นผู้สอนก็เป็นผู้ช่วยหรือเสริมความรู้ให้แก่เด็ก   อย่างไรก็ตามทุกหน่วยงานเข้าใจปัญหาการจัดการศึกษาและพยายามช่วยกันทำให้การศึกษาทุกพื้นที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น