จาก “คังคุไบ” สู่ความเป็นไปได้ของ “โสเภณี” ถูกกฎหมายในไทย

จาก “คังคุไบ” สู่ความเป็นไปได้ของ “โสเภณี” ถูกกฎหมายในไทย

หลังภาพยนตร์ “คังคุไบ” ออกฉายได้ไม่นานจนเหล่าคนดังเมืองไทยแต่งตัวตามกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ยังไม่มีใครออกมาพูดเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของ “โสเภณี” ในประเทศไทย เท่าใดนัก

ยังคงเป็นกระแสต่อเนื่องสำหรับภาพยนตร์ดังจากประเทศอินเดียที่ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์อย่าง “คังคุไบ” ที่นอกจากจะโด่งดังไปทั่วโลก ทั้งโซนยุโรปและอเมริกาแล้ว ความปังและความดังในไทยเองก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

เพราะเหล่าบรรดาคนดังทั้งดาราและนักร้องมากมายหลายคนต่างพากันออกมาแต่งกายเลียนแบบอวดความสวยลงโซเชียลกันมากมาย แต่ยังมีน้อยคนนักที่จะตระหนักถึงความสำคัญ ความเป็นอยู่ สิทธิและเสรีภาพของอาชีพ “โสเภณี” ไทย

ที่ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องทำการซื้อ ขาย กันอย่างลับ ๆ ล่อ ๆ แต่ก็ยังไม่ใช่ความลับเพราะไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่รู้เรื่องนี้ ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยไม่น้อยที่เข้ามาเพราะเรื่องนี้

เรื่องอ่านประกอบ : ทำความรู้จักอาชีพ “โสเภณี” ผ่านมุมมองของภาพยนตร์ “คังคุไบ”

เชื่อว่าสำหรับสังคมไทยส่วนใหญ่นั้นยังคงมองอาชีพ“โสเภณี” หรือ “ผู้ขายบริการ” ในแง่ลบและมักจะไม่ยอมรับให้ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้มีที่ยืนในสังคม

แต่หลายคนอาจหลงลืมกันไปว่า “โสเภณี” ก็คืออาชีพหนึ่ง มีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกอาชีพเช่นเดียวกัน

ซึ่งในภาพยนตร์ “คังคุไบ” ก็พยายามสื่อออกมาในเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่าผู้คนเหล่านี้มีตัวตนอยู่จริงในสังคมร่วมถึงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้เหมือนกับอาชีพอื่น และการต่อสู้ของ "คังคุ" เพื่อให้ตัวเธอและเพื่อนร่วมอาชีพเป็นคนที่มีตัวตนในสังคม

ครั้งนี้กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพาไปพูดคุยทำความรู้จักผู้คนที่อยู่ในวงการหรือเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามจะผลักดันให้ “โสเภณี” เป็นอาชีพที่เท่าเทียมกับอาชีพอื่น

  • เสียงจากผู้ค้าบริการ

ศิริ นิลพฤกษ์ หนึ่งในหลายคนที่เคยประกอบอาชีพนี้เล่าว่า ภาพรวมของการค้าบริการในปัจจุบันของประเทศไทยมีอยู่สองรูปแบบ คือกลุ่มที่ค้าบริการอย่างเปิดเผยในพื้นที่ที่หลายคนคุ้นเคย และกลุ่มที่อยู่ในสถานบริการ เช่น อาบ อบ นวด ผับ บาร์ หรือ เลาจ์

ซึ่งในกลุ่มที่สองนี้เมื่อเจอปัญหาโควิดไม่สามารถเปิดให้บริการได้ก็ต้องหาทางปรับตัวไปใช้ช่องทางออนไลน์ แต่สำหรับปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบอาชีพนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจเหมือนกับอาชีพอื่น ๆ เพราะเมื่อไม่มีกำลังซื้อก็ไม่สามารถขายได้ดีเหมือนเมื่อก่อน

แต่ปัญหาสำคัญก็คือการเข้าไม่ถึงสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุมผู้ประกอบอาชีพ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ได้เหมือนอาชีพอิสระอื่น ๆ เนื่องจากไม่มีเครดิตรับรอง ทำให้นำไปสู่การกู้นอกระบบและเกิดปัญหาหนี้นอกระบบตามมา

อีกปัญหาหนึ่งก็คือกลุ่มคนเหล่านี้ยังคงถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนที่ไม่มีทางเลือกจึงต้องมาทำงานประเภทนี้ และในอนาคตถ้าหากการค้าบริการถูกกฎหมายก็อาจจะช่วยได้แค่บางคนเท่านั้นคือคนที่เปิดเผยต่อสังคมว่าประกอบอาชีพเป็นโสเภณี เพราะยังมีอีกหลายคนที่ไม่กล้าเปิดตัวว่าทำอาชีพนี้

เพราะเมื่อถูกกฎหมาย นั่นหมายความว่าผู้ที่ประกอบอาชีพจะต้องแสดงตัวตน ซึ่งตอนนี้ยังมีหลายคนที่ยังไม่พร้อม แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะแสดงตัวตน เพื่อจ่ายภาษีและได้รับสวัสดิการที่ควรจะได้ และเข้าสู้ระบบนายจ้างกับลูกจ้างอย่างถูกต้องเหมือนกับการคุ้มครองแรงงานทั่วไป

แต่ในปัจจุบันการค้าบริการยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ดังนั้นจึงทำให้ผู้ค้าบริการถูกกดขี่ ถูกแสวงหากำไรอย่างไม่เป็นธรรม

สำหรับกระแสภาพยนตร์เรื่อง "คังคุไบ" เธอมองว่า คนในสังคมส่วนใหญ่ยอมรับหนังแต่ไม่ได้ยอมรับว่าอาชีพนี้มีตัวตนอยู่จริงในสังคมไทย เพราะสุดท้ายเขาก็ยอมรับแค่ตัวคังคุ เขาไม่ได้ยอมรับความเป็นอยู่ของผู้ค้าบริการที่มีอยู่จริงในประเทศไทย

“เอาจริง ๆ พลเมืองชั้น 2 ยังมีตัวตน แต่ในขณะเดียวกันคนไม่ได้มองเห็นว่ามีตัวตนมีอยู่จริง และไม่ใช่พลเมืองชั้น 3 ด้วยซ้ำ แต่คือพลเมืองที่ถูกมองว่าไม่มีอยู่จริง” ศิริ สรุปถึงการมีอยู่ของ "อาชีพโสเภณี" ในสังคมไทย

  • ผู้ร่วมผลักดันให้การค้าบริการเป็นอาชีพถูกกฎหมาย

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เล่าว่า ภาพรวมคุณภาพชีวิตของคนที่ประกอบอาชีพนี้ในอดีตกับปัจจุบันไม่ต่างกันมากนัก ไม่สามารถหานิยามได้ว่าแบบใดจึงเรียกได้ว่าเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องที่เป็นพนักงานบริการในบ้านเรา

เพราะตราบใดที่อาชีพนี้ยังคงผิดกฎหมาย สถานะพวกเขาก็คืออาชีพที่ผิดกฎหมายไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการอะไรได้ ตราบใดที่อาชีพนี้ยังคงมีทัศนะที่ถูกสังคมรังเกียจและกีดกันก็ไม่สามารถทำให้พวกเขามีพื้นที่ที่จะเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้เหมือนกับคนอื่นในสังคม

ดังนั้นสถานภาพจึงเหมือนเดิมกับในอดีต อาจจะมีความต่างในเรื่องที่ในปัจจุบันนี้มีรูปแบบการขายบริการที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของสถานบริการหรือผู้มีอิทธิพลแต่ว่าไปอยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งก็อาจจะมีโอกาสและมีคุณภาพชีวิตดีกว่าคนที่ยังทำงานอยู่ในพื้นที่ที่ยังถูกควบคุมอยู่หรือต้องอยู่บนพื้นที่สาธารณะ ต้องดิ้นรน หลบหนีการจับกุม เพราะมีกฎหมายที่เอาผิดอยู่

สิ่งที่เป็นกุญแจล็อกสำคัญที่ทำให้ยังเป็นปัญหาอยู่ก็คือ การที่มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 การมีกฎหมายนี้ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาด้วยการเอาผิดทั้งจำคุกทั้งปรับกับพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การค้าประเวณี สิ่งนี้คือช่องทางที่ทำให้ผู้รักษากฎหมายใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมมากดทับ เอาเปรียบ และทำร้ายพวกเขา

ถ้าหากยกเลิกกฎหมายนี้แล้วทำให้สิ่งที่เขาทำอยู่มันคือการทำงาน ยอมรับว่ามันคือการทำงาน และเมื่อกลายเป็นการทำงานเขาต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะคนทำงานโดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงานเหมือนอาชีพอื่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเขา

แต่สังคมกับมองว่าเป็นการส่งเสริมให้คนหันมาซื้อบริการซึ่งผิดศีลธรรมแต่ในความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อยากให้มองความจริงว่าเขาว่าทำงานบริการนวด ให้บริการเสริมลูกค้า สิ่งนี้คืองานบริการของเขา อย่ามองไปที่เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเดียวเพราะเป็นแค่องค์ประกอบเล็กน้อย อยากให้มองไปที่งานบริการมากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกมองว่าเป็นการทำงานเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ถึงปัจจุบัน ซึ่งผ่านมากว่า 60 ปี

นอกจากนี้ สุรางค์ ยังอธิบายว่าถ้าหากอาชีพค้าบริการถูกกฎหมายคุณภาพชีวิตก็จะสามารถดีขึ้นได้ด้วยการคุ้มครองของกฎหมายแรงงานไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบ อย่างเช่น เมื่อพวกเขาเจ็บป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ เมื่อยามแก่ชราไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ก็มีเงินมาดูแลยามแก่ชรา หรืออย่างเช่นไม่สามารถทำงานได้ในช่วงโควิดก็สามารถรับเงินชดเชยได้เหมือนกับอาชีพอื่น

“สิ่งนี้จะทำให้พวกเขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตว่าจะวางแผนชีวิต มีเงินสะสมใช้ต่อไปในตอนแก่มันก็จะยิ่งทำให้เราเป็นคนเหมือนคนอื่นมากขึ้นเพราะตอนนี้สถานะเราไม่เป็นคนไม่รู้ว่าสถานะเราอยู่ตรงไหน เราไม่ใช้คำว่าถูกกฎหมาย แต่ใช้คำว่ากฎหมายที่ยกเลิกการเอาผิดออกไป ไม่ต้องบอกว่าอาชีพนั้นถูกหรือผิด เขาก็จะเหมือนคนอื่น ๆ ทำให้มีความเท่าเทียมกัน” สุรางค์ กล่าวสรุปในประเด็นความเท่าเทียม

ทางด้าน รัฐภูมิ เลิศไพจิตร โฆษก We volunteer ในฐานะที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้โสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมายกล่าวว่า อาชีพค้าบริการเปรียบเสมือนอาชีพหนึ่งในสังคม ถือเป็นเรื่องปกติเสียด้วยซ้ำที่ควรจะถูกต้องตามกฎหมาย

การผลักดันให้อาชีพค้าบริการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่วันนี้ก็วันข้างหน้ามันต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นปัจจุบันการให้ความรู้และการปลูกฝังความคิดให้กับสังคม เพื่อยอมรับการมีอยู่ของอาชีพดังกล่าว จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นอกจากนี้จากการพูดคุยกับผู้ค้าบริการทางเพศ ยังมีหลายคนที่ไม่ได้ต้องการให้อาชีพนี้ถูกกฎหมาย เพราะยังรู้สึกอายที่ต้องเปิดเผยว่าตนเองทำอาชีพนี้ และมองว่าอยู่แบบผิดกฎหมายอาจจะได้เงินมากกว่า เช่น ไม่ต้องเสียภาษี เป็นต้น

ดังนั้นการที่จะผลักดันให้ถูกกฎหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปที่ตอบโจทย์กับคนทุกฝ่าย ส่วนตัวมองว่าในปัจจุบันปัญหาของผู้ค้าบริการมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการไม่ถูกยอมรับโดยสังคม ทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่ได้รับสิทธิเหมือนคนอื่น ๆ การทำธุรกรรมกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาเหล่านี้ทำไม่ได้ ทั้งที่พวกเขาก็มีสิทธิเหมือนกับอาชีพอื่น

“แน่นอนว่าหากเราสามารถทำอาชีพนี้ให้ถูกกฎหมายได้ มันส่งผลดีต่อหลายมิติ ทั้งมิติเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อเราสามารถทำให้อาชีพที่อยู่ใต้ดินมาอยู่บนดินได้ เราจะสามารถเก็บภาษีและนำมาพัฒนาประเทศได้อีกเป็นจำนวนมาก และในมิติคนค้าบริการ พวกเขาก็จะได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การทำร้ายร่างกายหรือการบังคับให้กระทำในสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” รัฐภูมิกล่าวทิ้งท้าย

  • มุมมองด้านธุรกิจและการพยายามผลักดันด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ในงานเสวนา “Sex work is work : โสเภณีก็เสรีไปเลยสิค้า” จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แม้ว่าติดธุระไม่สามารถมาร่วมเสวนาได้แต่ก็ได้แสดงความเห็นในมุมของเศรษฐกิจผ่านมาทางผู้ดำเนินรายการว่า เห็นด้วยกับการผลักดันโสเภณีถูกกฎหมาย เพราะนอกจากเรื่องการคุ้มครองและสวัสดิการต่าง ๆ

ในอดีตแม้ธุรกิจโสเภณีจะให้บริการกับคนไทยเป็นหลักแต่ก็มีงานวิจัยชี้ว่า การบริการดังกล่าวมีไว้ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศด้วย ทำให้ในปี พ.ศ.2531 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ซึ่งการบริการดังกล่าวก็เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมูลค่าดังกล่าว ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันก็เป็นตัวแปรหลักเช่นกัน

และหากผลักดันให้ให้โสเภณีถูกกฎหมายจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ GDP ซึ่งรายได้ในช่วงปี 2536-2538 พบว่าอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท หากนำตัวเลขเหล่านี้มาพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของธุรกิจ และจำนวนแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันอาจจะมีค่าถึง 2-2.5% ของ GDP คือมีค่าประมาณ 3 แสนล้านถึง 3.75 แสนล้านบาท นอกจากนี้คาดการณ์ว่าในปัจจุบันอาจจะมีจำนวนโสเภณีประมาณ 2 แสน – 2.5 แสนคน ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องดูแลแรงงานในภาคบริการเหล่านี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ทางพรรคก้าวไกลโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวถึงกระแสภาพยนตร์ “คังคุไบ” ว่า ภาพยนตร์สะท้อนว่า การที่อาชีพดังกล่าวไม่ถูกกฎหมาย ย่อมเปิดโอกาสให้ เจ้าหน้าที่รัฐ และ ตำรวจ รีดไถเก็บส่วย รวมถึงการเปิดช่องให้ซ่องก็สามารถกดขี่ ควบคุมตัวผู้ค้าบริการได้อีกด้วย เพราะพวกเธอไม่สามารถไปพึ่งพาใครได้

โดยส่วนตัวมองว่า สถานการณ์ในประเทศไทยก็ไม่ต่างจากอินเดียที่ผู้ประกอบอาชีพถูกขูดรีดทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและสถานประกอบการ และนี่คือ “ผลประโยชน์ก้อนใหญ่” ของหลายฝ่ายจากการที่อาชีพดังกล่าวผิดกฎหมาย

ซึ่งทางพรรคก้าวไกลได้ดำเนินการการยกร่างกฎหมายและดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว มั่นใจว่าจะเป็นกฎหมายที่คุ้มครองและปกป้องอาชีพบริการทางเพศฉบับแรกในประเทศไทยและเปลี่ยนมุมคิดของสังคม ว่า “SexWork is Work คุณค่าของคนต้องเท่ากัน”

เรื่องอ่านประกอบสู้แบบ “คังคุไบ”! “ก้าวไกล” ยกร่าง กม.คุ้มครองผู้บริการทางเพศ ใกล้เสร็จแล้ว

หลังจากนี้จะต้องมาจับตากันต่อไปว่ากระแสของ "คังคุไบ" จะช่วยให้สังคมไทยทำความเข้าใจและให้โอกาสอาชีพ "โสเภณี" ได้มากน้อยเพียงใดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีทางออกให้กับผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ไปในทิศทางไหน