สู้แบบ “คังคุไบ”! “ก้าวไกล” ยกร่าง กม.คุ้มครองผู้บริการทางเพศ ใกล้เสร็จแล้ว

สู้แบบ “คังคุไบ”! “ก้าวไกล” ยกร่าง กม.คุ้มครองผู้บริการทางเพศ ใกล้เสร็จแล้ว

“ธัญวัจน์” เผย “ก้าวไกล” ยกร่างกฎหมายคุ้มครอง “อาชีพผู้บริการทางเพศ” ใกล้แล้วเสร็จ เปรียบกระแสภาพยนตร์ดัง สู้ให้เหมือน “คังคุไบ” เปลี่ยนมุมคิดสังคมสู่ Sex Work is Work คุณค่าคนต้องเท่ากัน

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล กล่าวถึง “คังคุไบ” ภาพยนตร์ที่กำลังเป็นกระแสและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในไทยขณะนี้ ว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวดัดแปลงมาจากจากหนังสือนิยาย Mafia Queens of Mumbai ในปี 2554 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่งาน “เทศกาลหนังเบอร์ลิน”  ต่อมาได้ปล่อยสตรีมมิ่งที่ Netflix เนื้อเรื่องอยู่ในช่วง พ.ศ. 2473 - 2493 ประเทศอินเดียเพิ่งได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ และพูดถึงชีวิตของ คังคุไบ หญิงสาวที่เป็นนักเต้นรำมีความฝันอยากเป็นดารา แต่กลับถูกผู้ชายที่ตนรักหลอกไปขายซ่อง ถูกกักขังและบังคับให้ค้าประเวณี ชีวิตที่เหมือนไร้ทางออกแต่เธอภายหลัง เธอสามารถเปลี่ยนแปลงอาชีพ Sex Worker ให้ถูกกฎหมาย 

นายธัญวัจน์ กล่าวอีกว่า ในภาพยนตร์สะท้อนว่า การที่อาชีพดังกล่าวไม่ถูกกฎหมาย ย่อมเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐ และ ตำรวจ รีดไถเก็บส่วย รวมถึงการเปิดช่องให้ซ่องก็สามารถกดขี่ ควบคุม ตัว Sex Worker ได้อีก เพราะพวกเธอไม่สามารถไปพึ่งพาใครได้ หรืออย่างตัวอย่างในภาพยนตร์ที่ คังคุไบ ถูกทำร้ายร่างกาย เธอยังไม่สามารถเอาผิดใครได้ เพราะการประกอบอาชีพของพวกเธอยังผิดกฎหมายอยู่ แม้จะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ต้องถูกแบกไปอยู่ในห้องเก็บของเพราะสังคมมองอาชีพดังกล่าวเป็นเรื่องเสื่อมเสียและไม่อยากอยู่ร่วมกัน

"เรื่องราวในภาพรวมหลังจากที่ธัญได้ชมแล้ว ต้องบอกว่าสถานการณ์ในประเทศไทยก็ไม่ต่างจากอินเดียที่ผู้ประกอบอาชีพถูกขูดรีดทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและสถานประกอบการ และนี่คือ 'ผลประโยชน์ก้อนใหญ่' ของหลายฝ่ายจากการที่อาชีพดังกล่าวผิดกฎหมาย" นายธัญวัจน์ กล่าว

นายธัญวัจน์ กล่าวอีกว่า จากคำปราศรัยของคังคุไบครั้งแรก มีคำพูดตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “อาชีพของพวกเธอก็ทำให้คุณได้เป็นสุภาพสตรี” ประโยคดังกล่าวเป็นการปรับมุมคิดเปลี่ยนวิธีคิดของสังคม หากเรามองว่าอาชีพดังกล่าวความเสื่อมเสียและสร้างความแตกแยกให้กับครอบครัว แต่อาชีพดังกล่าวต่างหากที่กลับสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันครอบครัว เธอไม่ให้ทำงานบริการให้กับผู้ชายเท่านั้น แต่ผลกระทบชิ่งคือทำให้ผู้หญิงได้เป็นกุลสตรีใช้ชีวิตได้อย่างฝัน หากเรามองภาพให้กว้างทุกอาชีพล้วนมีคุณค่ามีความสำคัญ และทุกอาชีพควรได้รับความเป็นธรรม นับเป็นคำพูดที่ก้าวหน้าอย่างมากในยุคนั้น และบางทีก็ก้าวหน้ามากกว่าประเทศไทยในปัจจุบัน

นายธัญวัจน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกการต่อสู้ในสิทธิต่างๆ คังคุไบ ปลุกความคิด ว่าพวกเธอควรมีวันหยุด พวกเธอควรได้รับการเคารพในฐานะมนุษย์ เธอควรได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม ไม่ควรมีการบังคับค้าประเวณีและค้ามนุษย์ เธอส่งเด็กผู้หญิงกลับบ้านทันทีหากเธอไม่ยินยอม เด็กผู้หญิงต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม เธอเปลี่ยนวิธีคิด สู่ความเปลี่ยนแปลง เธอขับเคลื่อนการค้าประเวณีให้ถูกกฎหมาย ผ่านการพบผู้มีอำนาจและการนำเสนอเรื่องราวผ่านนักสื่อมวลชน 

"วันนี้สถานะการค้าประเวณีในประเทศไทยยังผิดกฎหมาย การกดขี่ ขูดรีด จากเจ้าหน้าที่รัฐยังเกิดขึ้นทุกวัน ยังมีผลประโยชน์ก้อนใหญ่แบ่งปันกันอิ่มหนำจากผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ดี วันนี้พรรคก้าวไกลได้ดำเนินการการยกร่างกฎหมายและดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว มั่นใจว่าจะเป็นกฎหมายที่คุ้มครองและปกป้องอาชีพบริการทางเพศฉบับแรกในประเทศไทยและเปลี่ยนมุมคิดของสังคม ว่า SexWork is Work คุณค่าของคนต้องเท่ากัน" นายธัญวัจน์ กล่าว