คังคุไบ โสเภณีที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ ในหนังอินเดียถึงกะเหรี่ยงบางกลอย

คังคุไบ โสเภณีที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ ในหนังอินเดียถึงกะเหรี่ยงบางกลอย

บทวิเคราะห์"คังคุไบ" โสเภณีในเมืองที่มีซ่องใหญ่ที่สุด แต่ไม่มีตัวตน ไม่ได้รับเกียรติใดๆ เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับสังคมอินเดียและเจ้าอาณานิคมอย่างไร รวมไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

1.ย่านโคมแดงที่บอมเบย์

ฉากสถานที่และเรื่องราวของคังคุไบในภาพยนตร์ เกิดขึ้นในย่านโคมแดงเมืองบอมเบย์.. ยังต้องเรียกบอมเบย์ เพราะตอนนั้นยังเป็นชื่อดั้งเดิมที่ฝรั่งตั้ง เป็นฉากเรื่องราวย้อนไปราวๆ ทศวรรษหลังสงครามโลก ซึ่งตอนนั้นอินเดียได้เอกราชมีนายกบัณฑิตเนรูห์เป็นนายกรัฐมนตรีของตนเองแล้ว 

ประวัติของคังคุไบ จากต้นฉบับหนังสือ Mafia Queen of Mumbai เธอเกิดเมื่อ 1939 (2482) ในท่ามกลางสงคราม

นั่นหมายถึงว่า เธอโตมาในยุคอินเดียกำลังอลหม่าน ขึ้นรถไฟมาถึงย่านโคมแดง กรรมาฑีร์ปุระ Kamathipura นครบอมเบย์ เมื่อ 1960 (2503) เป็นยุคที่โรงภาพยนตร์ยังเป็นความบันเทิงที่ใหม่มาก รถยนต์มีน้อย เทียบกับประเทศไทยตรงกับยุคจอมพล ป. คนยังเปิดเพลงสุนทราภรณ์ลีลาศกันล่ะครับ

 

 

สังคมอินเดียนั้นซับซ้อนมาก ระบบวรรณะไม่มีพื้นที่ให้โสเภณี ถึงขนาดไม่ได้รับการยอมรับสถานะเป็นคนด้วยซ้ำ เพราะอยู่ล่างลึกกว่าจัณฑาลใช้แรงบางจำพวก

ดังนั้นหากเกิดมีลูกสาวของวรรณะค้าขายทำงานสำนักงาน หรือแม้แต่ภาคเกษตรกรรมตกไปทำงานในซ่องขายตัวแล้วไซร้ ไม่สามารถกลับไปบ้านได้ เพราะจะถูกเผาทั้งเป็นทันที ทั้งนี้เพื่อรักษาเกียรติศักดิ์ศรีของคนที่เหลือในตระกูลวรรณะไว้

คังคุไบ โสเภณีที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ ในหนังอินเดียถึงกะเหรี่ยงบางกลอย

ดังนั้นการที่ คังคุไบโผล่ขึ้นมาเป็นแกนนำตัวแทนของเหล่าแม่หญิง โสเภณี ขึ้นเวทีพูดปราศรัย มีตัวตนขึ้นมาในสังคมและหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเป็นตัวแทนไปเจรจากับนายกรัฐมนตรีจึงเป็นอะไรที่ขัดแย้งแปลกประหลาดที่สุด

"คังคุไบ" จึงเป็นเรื่องราวที่ไม่ปกตินักของสังคมอินเดีย ต้นฉบับนวนิยายตั้งใจชื่อเรื่องว่า Mafia Queen of Mumbai สะท้อนความเป็นผู้นำของเหล่าแม่หญิง กลุ่มผู้คนขนาดใหญ่

และยังชี้ให้เห็นถึงความมีอิทธิพล/มีน้ำหนัก/และบทบาท ภายใต้คำว่า Mafia ไปพร้อมกัน หนังไม่ได้ดราม่า ในยุคนั้นย่านโคมแดง กรรมาฑีร์ปุระ Kamathipura ใหญ่โตเป็นเมืองๆ หนึ่ง แบบที่ในภาพยนตร์นำเสนอแหละครับ... คือมีอาคารมีสำนักเปิดเผย ริมถนนหนทางผ่านสะดวก ไม่ได้หลบซ่อนกระมิดกระเมี้ยนในตรอกซอยอะไรเลย

ข้อมูลจาก Wikipedia บอกว่า มีอาคาร (ซ่อง) ย่านนี้ถึง 3 พันหลัง จำนวนคนไม่ต้องพูดถึงเป็นหมื่นๆ เป็นเมืองโสเภณีที่ใหญ่สุดในเอเชียด้วยซ้ำไป

มันก็เกิดมีข้อสงสัย ทำไมจึงเกิดมีเมืองซ่องใหญ่โตขนาดนี้ขึ้นมาได้ ในเมื่อสังคมอินเดียไม่ยอมรับโสเภณี ไม่ให้บทบาท ไม่มีเกียรติ ไม่มีตัวตน !!?

คำตอบก็คือ เพราะอังกฤษเจ้าอาณานิคมเปิดให้ !

คังคุไบ โสเภณีที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ ในหนังอินเดียถึงกะเหรี่ยงบางกลอย  ย่านโสเภณีโคมแดงใหญ่โตเป็น district ย่านเขตปกครองขนาดต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนเขตมีแต่ที่บอมเบย์นี่แหละ เพราะบอมเบย์เป็นเมืองท่าที่อังกฤษสร้างขึ้น

อาณาบริเวณย่านความเจริญเมืองบอมเบย์ในยุคแรก คือราวๆ ปลายอยุธยาเป็นแค่เกาะ 7 เกาะที่ฝรั่งเช่า บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษถมทะเลเชื่อมเกาะทั้ง 7 ปรับปรุงเป็นป้อม เป็นท่าเรือ ย่านการค้าจนกลายเป็นมหานครใหญ่แห่งเอเชียตามลำดับ

ชื่อ กรรมาฑีร์ปุระ มาจากกรรมกร/ผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช่ กาม/กามา เพราะการถมเกาะ สร้างเมืองต้องใช้กำลังแรงงานมาก กรรมกรมาก โสเภณีก็ตามมา

อังกฤษ นี่คือ เจ้าแห่งการอนุโลมให้เกิดระบบโสเภณีบริการความใคร่ เพราะเขาถือคติว่า โสเภณีเป็นบาปที่จำเป็น necessary evils เวลาจัดตั้งกองทหารเกณฑ์คนพื้นเมืองมารับใช้อำนาจ เขาก็ให้มีนางโลมมาบริการทหารของเขาด้วย

ย่านกรรมฑีร์ปุระจึงเกิดมาก่อนโรงเรียน และอะไรต่ออะไรเป็นร้อยปี ตามที่คังคุไบให้เหตุผลไว้ในหนัง !

ระบบเมืองใหญ่ (และใหม่) ภายใต้อังกฤษ กำเนิดเมืองโสเภณีโคมแดงขึ้นมาจนใหญ่โตกว่ารัฐบาลอินเดียยุคเนรูห์จะกวาดล้างทำให้หายไป

บอมเบย์ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยคนอินเดียฮินดูเคร่งวรรณะเท่านั้น อิสลามก็เยอะ และก็เป็นมาเฟียจริงๆ คนรวมกลุ่มกันมากก็มีพลังมากขึ้น ทั้งอิทธิพลจากจำนวนคนและอิทธิพลทางเศรษฐกิจ

หลังจากยุคคังคุไบเคลื่อนไหวขอสิทธิ์ให้เหล่าโสเภณี เคยเกิดประท้วงใหญ่และจลาจลจากมาเฟียอิสลามเจ้าถิ่นในบอมเบย์ด้วย

การเคลื่อนไหวของคังคุไบเกิดจากความจำเป็นต้องต่อรองและออกมาสู้ เพื่อปกป้องย่านทำเลและผลประโยชน์ของคนด้อยโอกาสจำนวนมาก เสียดายที่ภาพยนตร์มีเวลาจำกัดสะท้อนเรื่องราวในระหว่างช่วงนั้นได้น้อย

ที่สุดก็คือ ย่านกรรมาฑีร์ปุระยังอยู่ต่อ เป็น district of sex workers มาจนยุคมุมไบปัจจุบัน ที่แม้เหล่าน้องนางที่นั่นจะลดลงมากแล้ว

ในบรรดาการต่อสู้ทั้งหลาย ผู้เขียนชอบตอนที่เธอบอกว่า โสเภณีก็ต้องมีวันหยุด และพากันไปดูหนังกัน นั่นมันเป็นอะไรที่เท่มากในยุคนั้น

ต้องหลับตานึกว่า ตอนนั้นมันพ.ศ. 2500 ต้นๆ เองนะ ในอเมริกาเพิ่งเริ่มมีขบวนการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี โรซ่า พาร์ค ไม่ยอมลุกจากที่นั่งบนรถเมล์เมื่อปี 1955 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง, มัลคอล์ม เอ็กซ์ เคลื่อนไหวในทศวรรษ 1960s ส่วนในประเทศไทยนั้น คำว่าสิทธิเสรีภาพมีในรัฐธรรมนูญ แต่ทางปฏิบัติมันคืออิหยังยังมึนงงกันอยู่

โรงภาพยนตร์เป็นสถานที่เปิด เป็นหน้าตา เป็นพื้นที่แสดงออกของการพักผ่อนของผู้มีสิทธิ์จับจ่าย กลุ่มโสเภณีเดินแถวไปซื้อตั๋วดูนั่งชม ร่วมกับผู้คนต่างวรรณะที่ปกติจะไม่ยอมอยู่ร่วมสถานที่ กินข้าวร่วมวงก็ไม่ได้ ..มันจึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการพยายามต่อสู้ แสดงตัวตน แสดงออกถึงสิทธิในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมของคังคุไบ

คังคุไบ โสเภณีที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ ในหนังอินเดียถึงกะเหรี่ยงบางกลอย

2. สิทธิและศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์

สังคมโลกเราพัฒนาการขึ้นมากจากทศวรรษ 2500 ในไทยมีประท้วงไล่ถนอม ประภาส มีรัฐธรรมนูญ ต่อมาก็มีพัฒนาการเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

คำว่า สิทธิมนุษยชนเอย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เอย หรือกระทั่งสิทธิชุมชน ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญในอีก 30 ปีจากนั้น

ส่วนในอเมริกาก้าวหน้ากว่า หลังจากหมดยุคมาร์ติน ลูเธอร์คิง คนผิวสีก็ขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้

ในอินเดียแม้จะยังมีข่าวผู้หญิงถูกเผาตามสามี โดยระบบจารีตอยู่บ้าง ก็ยังดีที่มีการยอมรับว่ามี sex workers อาชีพโสเภณีอยู่จริงๆ อย่างน้อยก็มีการยอมรับว่ามีตัวตน โสเภณีก็เป็นมนุษย์นะ

ไม่เหมือนยุคโน้นที่พอเข้าอยู่ในซ่องโลกภายนอก ก็ delete เธอหายไปทันที เช่นเดียวกับพ่อแม่ของคังคุไบ

ภาพยนตร์คังคุไบนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจของนักเคลื่อนไหวผู้นำสตรีขายบริการได้น่าสนใจ.. ทั้งเรื่องวัฒนธรรม การแต่งกาย และความสนุกสนาน

แต่ที่อยากเห็นมากกว่า คือ ดอกผลของภาพยนตร์ควรจะช่วยให้สังคมสนใจในปัญหาสิทธิมนุษยชน หรือปัญหาการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยนะ

สังคมโลกเดินทางผ่านทศวรรษ พ.ศ. 2500 มากว่า 50 ปีแล้ว ความเชื่อในปรัชญาสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็พัฒนาขึ้นมามาก

แต่ก็นั่นแหละ เรายังเห็นข่าวการบังคับพลทหารกินอสุจิ นอนแก้ผ้าดมตูดเพื่อนทหาร การบูลลี่คนป่วย คนพิการ ฯลฯ ทยอยมาไม่เว้น

คังคุไบ โสเภณีที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิ ในหนังอินเดียถึงกะเหรี่ยงบางกลอย ย่านโสเภณีแห่งกรรมาฑีร์ปุระ เป็นที่รวมของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีตัวตน เขาก็รวมกลุ่มกันส่งเสียงว่า มีฉันที่ทำอาชีพบริการสังคมอยู่ด้วย ...

นวนิยายมองเห็น ภาพยนตร์มองเห็น Netflix มองเห็น ดราม่าสังคมจึงค่อยมองเห็นตาม / ในทางคล้ายๆ กัน

แรงงานพม่ามอญที่รวมกลุ่มกันในย่านอ้อมน้อย พวกเขาก็คล้ายกับเหล่าน้องนางในภาพยนตร์ที่ต่างถูกโชคชะตาและเศรษฐกิจ นำพามารวมกันเป็นย่านเมืองชุมชนใหญ่

คนเหล่านี้มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาก แต่ไม่ค่อยจะถูกมองเห็นตัวตน หรือกระทั่งความสนใจเรื่องสิทธิต่างๆ เมื่อวันแรงงาน 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวมีสิทธิที่จะแสดงออกถึงตัวตนของเขา พาเหรดถือธงชาติแบบเดียวกับขบวนการแรงงานในโลกเขาแสดงกัน ก็มีคนไทยเจ้าถิ่นเกิดแสลงตา มาเดินขบวนเรียกร้องอะไรในบ้านฉัน กลับประเทศเอ็งไป

ปัญหาการถูกด้อยสิทธิ์ของผู้คนจำนวนมากยังเกิดขึ้นบ่อยๆ ดูคังคุไบ ทำให้นึกถึงชาวเลที่ภูเก็ต เขาอยู่มาก่อนการท่องเที่ยวโรงแรมร้านอาหารจะมาตั้ง แล้วระบบสมัยใหม่ก็ออกเอกสารสิทธิ์ไปเบียดบังบ้านของเขา

หรือกระทั่งพี่น้องกะเหรี่ยงที่อยู่ในป่ามานาน ป่าแห่งนั้นไม่ได้ต่างจากกรรมาฑีร์ปุระที่บอมเบย์ แค่ไม่มีอาคารสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น

คังคุไบบอกว่า ย่านโคมแดงของเธอมีมาก่อนเป็นร้อยปี ก่อนที่โรงเรียนฝรั่งจะเข้ามาตั้ง ชุมชนบ้านของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงก็อยู่มาก่อนสำนักงานป่าไม้อุทยานฯ เช่นกัน

ไม่ว่ายุคสมัยไหน ตั้งแต่จิ๋นซี ซีซาร์ คลีโอพัตรา จอร์จ วอชิงตัน พระนเรศวร จอมพล ป. เนรูห์ ฯลฯ แต่ละสังคมมนุษย์จำเป็นต้องมีคนเล็กคนน้อยอยู่ในโครงสร้างสังคมเสมอ

แม้พวกเขาเหล่านั้นซ่อนอยู่ส่วนลึกท้ายสุดของแถวสังคมก็ตาม ไอ้ฟักเป็นสัปปะเหร่อเมามายซ่อนตัวอยู่ท้ายสุดของหมู่บ้าน ก็มีตัวตน ...

คังคุไบและเด็กๆ ของเธอมีตัวตนแน่นอน และพยายามแสดงออกว่า เขามีสิทธิ์ในอาชีพมีความสำคัญเป็นกลไกฟันเฟืองหนึ่งให้กับสังคม ขอพื้นที่ให้พวกเธออยู่ต่อไปและช่วยเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาด้วย

คนเล็กคนน้อยที่รวมกันเป็นกลุ่มบ้านย่านถิ่นอีกมากมาย ที่ไม่มีโอกาสแบบเหล่าลูกสาวของคังคุไบ พะตีผู้นำชุมชนกะเหรี่ยง ไม่ได้เจอเพื่อเสนอปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีแบบคังคุไบได้เจอะกับเนรูห์

โลกนี้มีเรื่องราวคล้ายๆ ซ้ำๆ ซ้อนๆ ต่อเนื่องกันมาแต่โบราณ โลกนี้ยังมีคังคุไบอีกมากมายที่กำลังต่อสู้กับโชคชะตา

เพียงแต่เราไม่เห็นมัน หรือ ทำเป็นไม่เห็นมัน ...

ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว !