ปั้น 'ผู้นำสายพันธุ์ใหม่' สไตล์ 'เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่'

ปั้น 'ผู้นำสายพันธุ์ใหม่' สไตล์ 'เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่'

“เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” กับภารกิจปลุกปั้น "ผู้นำสายพันธุ์ใหม่" เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชุมชน นักการเมืองยุคใหม่ต้องมีความแกร่งในการจัดการเศรษฐกิจชุมชน ทำอย่างไรที่จะนำทุนและศักยภาพชุมชนมาสร้างเศรษฐกิจได้

แม้จะเดินทางมาแล้วนับทศวรรษ สำหรับ “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” ที่เกิดจากการผลักดันของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) หรือแผนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเริ่มจากการพัฒนาระดับย่อยที่สุด คือ “ชุมชน” ก่อนขยายผลสู่ตำบล สู่ระดับอำเภอ และกลายเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่กระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

หากกล่าวถึงผลสำเร็จของงานสุขภาวะชุมชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หนึ่งในคนทำงานขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน  อย่าง ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. เปิดใจว่า ความสำเร็จจากการ “ขับ” และ “เคลื่อน” งานระดับ “ลงลึก” ถึงชุมชนของ สสส. ภายใต้เครือข่ายฯ กว่า 10 ปีนี้ สิ่งที่มองว่าประสบความสำเร็จนั้น สรุปเป็น 4 เรื่องสำคัญด้วยกัน คือ

  1. ทำให้ชุมชนท้องถิ่นรู้สึกต้องรับผิดชอบต่อปัจจัยเสี่ยงและกลายเป็นวาระสาธารณะของชุมชน
  2. ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตประชากรในพื้นที่ เข้าใจมากขึ้นว่า ท้องถิ่นมีเรื่องที่ยังไม่ได้ทำ และงานที่สสส.ทำในพื้นที่สามารถขยายผลอยู่ในภารกิจของอปท.มากขึ้น
  3. เปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานของตัวละครหลักๆ ในชุมชน โดยเฉพาะท้องถิ่น มักจะเข้าใจว่าคุณภาพชีวิต คือเรื่องทั่วไป แต่ในความเป็นจริงคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องสุขภาวะ
  4. ชุมชนรู้จัก สสส.มากขึ้น

161363929019

หากวัดในเชิงปริมาณ สสส. มีอปท. 1 ใน 3 ของตำบลทั้งประเทศ หรือมีสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ถึง 3,000 กว่าอปท. ในจำนวนนี้มี 600 ตำบล ที่มีความเข้มแข็งมาก รองลงมาอีก 300 ตำบล เข้มแข็งระดับปานกลาง และ 1,000 ตำบล อยู่มาตรฐานทั่วไป ที่เหลือต้องมีการกระตุ้นมาก

ความสำเร็จดังกล่าวแม้จะสะท้อนให้เห็นว่ามิชชั่นที่เป็นไปได้ครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จ สามารถ “จุดประกาย” ให้กลุ่มคนที่สังคมเคยมองว่าเป็นระดับ “ฐานราก” ที่เคยต้องพึ่งพิงแต่กลไกการช่วยเหลือภาครัฐ ให้กลายเป็นชุมชนที่ลุกขึ้นมายืนด้วยลำแข้งตัวเอง

ภารกิจปลุกปั้นให้ “ชุมชนจัดการตนเอง” นี้ ก็ยังมีงานที่ “หยุดไม่ได้” และยังคงต้องเดินหน้าสานต่ออีกไม่น้อย ซึ่งนอกเหนือจากจำนวนสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ถึง 3,000 แห่งทั่วประเทศเหล่านี้ อีกหนึ่งผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการทำงาน สสส. ยังมีบทบาทเป็นอีกกลไกที่หนุนเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพผู้นำท้องถิ่นที่ “คิดใหม่ทำใหม่” ที่มีทักษะความเข้มแข็ง สามารถนำพาชุมชนท้องถิ่นให้รอดพ้นจากวิกฤต เกิดขึ้นมากมายและกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย

161363932484

เมื่อ “ผู้นำ” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างชุมชนท้องถิ่นสายพันธุ์ใหม่ ดังนั้น เพื่อร่วมกันค้นหา DNA ของ "ผู้นำ" พันธุ์ใหม่ ที่จะขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชุมชน  ทั้ง สสส.และเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จึงมาร่วมกันถอดบทเรียนจากประสบการณ์สิบปี ร่วมกันสกัดคุณสมบัติของ "ผู้นำ" สายพันธุ์ใหม่ ที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร ในการเสวนาออนไลน์ ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเรื่อง “นักการเมืองวิถีใหม่”

เริ่มจากมุมมองของดวงพรเผยว่า ในช่วง 4 ปีต่อจากนี้เศรษฐกิจชุมชนเป็นเรื่องสำคัญมาก สามารถเป็นฐานเศรษฐกิจทั้งภายในและส่งต่อไปภายนอกได้ ดังนั้นผู้นำ หรือนักการเมืองยุคใหม่ต้องมีความแกร่งในการจัดการเศรษฐกิจชุมชนมาก ทำอย่างไรที่จะนำทุนและศักยภาพชุมชนมาสร้างเศรษฐกิจได้ ดังนั้นผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์ก็จะทำงานยากกว่า

“สิ่งแรกที่คนในชุมชน ควรใช้เป็นเกณฑ์วัดในการเลือกผู้นำของตนเอง คือการที่ผู้นำคนนั้นต้องเป็นใฝ่หาความรู้ ต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงได้ สองมีทักษะในการบริหารเครือข่ายเป็น ดึงคนมาช่วยทำงานได้ และสาม ต้องลดปัญหาหรือความสงสัยของประชาชนเรื่องความไม่โปร่งได้ ด้วยการรู้จักนำข้อมูลมาสื่อสารกับประชาชน ซึ่งในเครือข่ายฯ พยายามสร้างเรื่องการเรียนรู้ให้กับชุมชนต่อเนื่อง

“จากประสบการณ์ทำงานของเรามีสิ่งหนึ่งที่ทางเครือข่ายฯ ได้เรียนรู้ว่า ผู้นำคนใดที่ไม่รู้จักชุมชนตัวเองจะทำงานเหนื่อยหนักกว่าผู้นำที่รู้จักชุมชนตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แต่ผู้นำควรรับฟัง และสร้างความรู้สึกให้ทุกคนในชุมชนเข้าใจว่า สมาชิกในชุมชนทุกคนมีหน้าที่ในการที่จะช่วยพัฒนาชุมชน ซึ่งเจ็ดแปดปีที่ผ่านมาเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้นำชุมชนชัดเจนว่า หากผู้นำเป็นคนที่ใฝ่รู้ จะสามารถทำงานเครือข่าย และมีทักษะในการดึงคนที่มีความรู้ด้านต่าง ๆมารับผิดชอบชีวิตซึ่งกันและกันได้”

บัญชร แก้วส่อง กรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สสส. เสริมว่า เหตุผลที่ผู้นำชุมชนควรต้องเป็นคน “คิดใหม่ทำใหม่” นั้น เพราะในโลกยุคกำลังเปลี่ยนแปลง สามารถเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบไปจนถึงระดับชุมชน ดังนั้น เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง คนในชุมชนต้องปรับวิธีคิดของชุมชน ตลอดจนความเป็นอยู่

“ปัจจุบันเป็นยุคที่ globalized กับ localized ต้องเป็นมุมโยงใยถึงกัน ยกตัวอย่างปัญหาเรื่องของโควิด 19 เป็นปัญหา Globalized ที่เข้ามากระทบ ผู้นำและชุมชนต้องจัดการแบบ Localized คือ นำองค์ความรู้ชุมชนมาแก้ปัญหาได้ นำของดีในพื้นที่ตัวเองมาร่วมจัดการปัญหาชุมชน

ผู้นำท้องถิ่นต้องรู้เรื่องรู้จัก รู้เรื่องท้องถิ่นตัวเอง และเท่าทันเรื่องโลกภายนอก เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาท้องถิ่นต่อตัวเอง ซึ่งจะเห็นว่า สสส. พยายามพัฒนานำชุมชนท้องถิ่นที่เป็นผู้นำยุคใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำประชาธิปไตย แบบฐานรากแท้จริง ที่เน้นการปรึกษา หารือกัน สร้างการมีส่วนรวม ไม่ใช่ผู้นำระบบสั่งการ ซึ่งจะเป็นแนวทางใหม่การทำงานของผู้นำในท้องถิ่น”  บัญชร กล่าว

ขณะที่ สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เล่าถึงกระบวนการที่เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อธิบายว่า

“ผู้นำยุคใหม่ที่ต้องเปลี่ยนความคิดแบบเดิมในเรื่องอำนาจ มาสู่การใช้กระบวนการมีส่วนร่วม มาสู่แนวคิดใหม่ ที่ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง จะคิดแบบเก่าไม่ได้ ขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลกระทบทั้งดีและไม่ดีต่อชุมชน”

ในฐานะประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สมพรแนะนำว่า ผู้นำต้องรู้จักนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีและเหมาะสมเข้ามาสู่ชุมชน ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามบริบทที่แตกต่างกัน ที่สำคัญต้องรู้ทันความเปลี่ยนแปลงภายนอก ซึ่งในอนาคตจะถาโถมเข้ามาอีกมหาศาล ดังนั้นผู้นำที่มีการวิเคราะห์ วิจารณญาณ ก็จะรู้จักปรับสมดุล และกลั่นกรอง รวมถึงสามารถนำพาให้ชุมชนอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย

“อยากให้ชุมชนเชื่อในพลังที่เรากำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการระเบิดจากข้างใน หรือการใช้ทุนชุมชนมาเป็นฐานในการแก้ปัญหาชุมชน เพราะจากวิกฤตโควิดแสดงให้เราเห็นชัดเจนแล้วว่า เรามีพลังที่สามารถจะดูแลชุมชนเราเองได้ และสามารถเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้ทุกสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น”

ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ยังเอ่ยว่า ผู้นำสายพันธุ์ใหม่ควรเห็นความสำคัญของการบริหารข้อมูล เพราะการใช้ข้อมูลเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมเบื้องต้น ที่ต้องนำมาใช้วิเคราะห์ วางแผน แต่ทุกวันนี้การใช้ข้อมูลยังอยู่ในระดับส่วนใหญ่

“เดิมปัญหาสังคมไทยไม่ค่อยเห็นความสำคัญของข้อมูล แต่เครือข่ายและ สสส.ใช้ความพยายามในเรื่องนี้มาสิบกว่าปี เพราะทุกกระบวนการตั้งแต่การวางเป้าหมายพัฒนาในชุมชน การแก้ปัญหาต่าง ๆ ข้อมูลสามารถตอบโจทย์และตอบปัญหาได้ทุกประเด็น ที่สำคัญคือ ต้องทำให้เห็นว่าข้อมูลที่เราเก็บไปมันเกิดประโยชน์กับเขา หรือเอาไปแก้ปัญหาชุมชนได้ เขาจะได้ให้ความร่วมมือและการยอมรับ” สมพรแนะนำ

เช่นเดียวกับบัญชรที่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ โดยบอกว่า ข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญมาก ที่จะทำให้เกิดความคิด ปัญญา แต่การจัดการข้อมูลต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วม คือหัวใจของการทำงาน เพราะถ้าไม่มีส่วนร่วมข้อมูลที่มีก็ไม่ถูกนำไปใช้ หรือไม่มีประโยชน์

161363941820

161363941910

161363947146

161363947176

161363947120

161363947270