ปัญหาและทางออก “วิกฤติพลังงาน” ในยุโรป

ปัญหาและทางออก “วิกฤติพลังงาน” ในยุโรป

ปัจจุบันยุโรปประสบปัญหาขาดแคลนพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีราคาก๊าซในยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 530% นำไปสู่ความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น, การขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และตลาดหุ้นเริ่มผันผวน ปัญหาและทางออก “วิกฤตพลังงาน” จะเป็นอย่างไรต้องติดตาม

บทความนี้จะสรุปสาเหตุของการเกิดปัญหา “วิกฤติพลังงาน” และจะมีโอกาสเห็นทางออกอย่างไรได้บ้าง

ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 530%

ปัญหาและทางออก “วิกฤติพลังงาน” ในยุโรป ที่มา: Bloomberg ข้อมูล ณ วันที่ 8 ต.ค. 2021

ทำไมพลังงานถึงขาดแคลน

สาเหตุที่ทำให้ "พลังงานขาดแคลน" มาจากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และการสำรองก๊าซธรรมชาติในยุโรปอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ รวมถึงพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานลม ที่สามารถผลิตพลังงานได้น้อยในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศในยุโรปหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบันจนเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานขึ้น

นอกจากนี้ ด้านผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างรัสเซีย กลับไม่ได้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากทางรัสเซียก็กำลังกักตุนสำรองก๊าซธรรมชาติสำหรับประเทศตนเองเช่นกัน

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

จากสถานการณ์การขาดแคลนพลังงานในยุโรป ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่ต้องแบกรับค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จนรัฐบาลหลายๆ ประเทศต้องออกมาให้มาตรการช่วยเหลือ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีหลายโรงงานหยุดการผลิตไป เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ซึ่งปัญหาขาดแคลนพลังงาน จนราคาก๊าซเพิ่มขึ้นสูงนี้มีโอกาสที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรปชะลอตัวลง

 

จะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่...ทำอย่างไรได้บ้าง?   

เจรจาส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 2

การส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 2 ที่ดำเนินการผ่านบริษัทรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย Gazprom เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติได้มากขึ้น

โดยท่อ Nord Stream 2 เป็นท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับเยอรมนี และสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ถึง 55,000 ล้านคิวบิกเมตรต่อปี

ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออก ก๊าซธรรมชาติ ผ่านท่อ Nord Stream 2 ยังประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ ทำให้ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้

อย่างไรก็ดี ล่าสุด ปธน. รัสเซีย Vladimir Putin ได้มีการระบุพร้อมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ ผ่านบริษัท Gazprom

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ จากส่วนหนึ่งที่ยุโรปขาดแคลนพลังงานก็เป็นเพราะทางรัสเซียสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้จำกัดในช่วงที่ผ่านมา

เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม โดยยุโรปได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก อย่างน้อย 55% จากปี 1990 ภายในปี 2030 และตั้งเป้าว่าจะปลอดคาร์บอนในปี 2050 ซึ่งหนึ่งในแผนที่จะทำให้เป็นไปตามเป้าหมายก็คือ การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ พลังงานสะอาด อาทิ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทางยุโรปก็ได้มีแผนที่จะผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 40% ภายในปี 2030

ในปัจจุบันยุโรปหันมาใช้ พลังงานหมุนเวียน ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น โดยในปี 2020 ยุโรปได้มีการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าถึง 38% มากกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ 37% โดยหลักๆ มาจากการใช้พลังงานลมและพลังานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น ถึงเกือบ 2 เท่า จากปี 2015 ขณะที่ไฟฟ้าที่ได้รับจากเชื้อเพลิงถ่านหินปรับตัวลดลง

ปัญหาและทางออก “วิกฤติพลังงาน” ในยุโรป ที่มา: Ember-climate.org

เรามองว่าจากการขาดแคลนพลังงานในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลของการเพิ่มพลังงานหมุนเวียน และลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนยังอยู่ในระดับต่ำเกินไป จนไม่สามารถเกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นกลุ่มประเทศยุโรปมีโอกาสที่จะเพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าว

ออกนโยบายเพื่อลดการเก็งกำไรในตลาด Future

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากการเก็งกำไรมากเกินไปในตลาด Future ราคาสัญญา Future ก๊าซธรรมชาติในตลาดเนเธอแลนด์ปรับเพิ่มขึ้นถึง 530% นับจากต้นปี ดังนั้น การแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการใช้นโยบายกำกับดูแล เพื่อลดการเก็งกำไรในตลาด Future จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

เรามองว่าท้ายที่สุดแล้วปัญหาการขาดแคลนพลังงานในยุโรปจะคลี่คลายลงได้ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของยุโรป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น และเราเชื่อว่าทางกลุ่มประเทศในยุโรปจะหันมาลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงานอย่างยั่งยืน และลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะหนุนให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดได้รับประโยชน์

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds

ที่มา: Ember-climate.org, Euronews, Bloomberg