จุฬาฯ โชว์ความสำเร็จโมเดลบริหารจัดการขยะพลาสติก

จุฬาฯ โชว์ความสำเร็จโมเดลบริหารจัดการขยะพลาสติก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โชว์ผลสำเร็จโครงการจุฬาฯ ซีโร่-เวสต์ ใช้แก้วไบโอพลาสติก ในโรงอาหาร 17 แห่ง ระยะเวลา 8 เดือน(กรกฎาคม61-กุมภาพันธ์ 62)

นายวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) กล่าวถึง การดำเนินโครงการจุฬาฯ ซีโร่-เวสต์(Chula Zero Waste)ในส่วนของแผนการใช้พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Compostable Plastic) ซึ่งเป็นพลาสติกทางเลือกที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC ในการสนับสนุนพลาสติกชีวภาพนวัตกรรมใหม่  หรือ BioPBS เพื่อผลิตแก้วกระดาษไบโอพลาสติก ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยสลายได้ภายใน 4-6 เดือน   โดยพบว่า หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนมาใช้แก้วไบโอพลาสติก ในระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ภายหลังเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม ปี 2561ถึง กุมภาพันธ์ 2562 มีอัตราเฉลี่ยการใช้ถึงเดือนละ148,900 ใบ และยังคงมีการใช้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถเทียบเท่ากับการลดขยะพลาสติกไปได้ถึง12.9 ตัน

ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการดังกล่าว เกิดจากการดำเนินงานร่วมกับร้านอาหารและเครื่องดื่ม ภาย ในโรงอาหารทั้ง 17 แห่ง ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับการรณรงค์การคัดแยกขยะ และการจัดเก็บที่ถูกวิธี ส่งผลให้ลดปริมาณขยะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างเป็นรูปธรรม   และยังสามารถต่อยอดในการนำแก้วไบโอพลาสติกที่ใช้แล้วไปเป็นภาชนะทดแทนถุงเพาะชำ สามารถย่อยสลายได้ในดิน เป็นแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการใช้ทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 “การนำแก้วไบโอพลาสติก ซึ่งถือเป็นพลาสติกทางเลือกมาใช้ทดแทนแก้วพลาสติกทั่วไป แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าและผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบดูแลสิ่งแวดล้อม โดยการจ่ายราคาเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 2 บาทต่อแก้ว หรือ หากนำแก้วมาเอง จะได้รับส่วนลด 2 บาทต่อแก้ว วิธีการนี้ถือเป็นการสร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคให้หันมาใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด  และยังสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งเพื่อให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ รวมถึงภาคเอกชนในประเทศที่มีความสนใจในระบบการจัดการนี้ ได้นำโมเดลนี้ไปปรับใช้”

สำหรับแผนในระยะต่อไป ได้เตรียม การนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เข้ามาใช้ในโรงอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ถุงพลาสติกรีไซเคิล ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา และคาดว่าปลายปีนี้ จะมีการนำหลอดไบโอพลาสติกมาใช้ในโรงอาหาร ซึ่งหลอดพลาสติกถือเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งคนไทยนิยมใช้เป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้

นับเป็นก้าวสำคัญของการนำผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ มาใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้นและสามารถสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่ม รวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่พร้อมนำ โมเดลไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยในแต่ละพื้นที่ โดยต้องบริหารการจัดการอย่างถูกวิธี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม