บทเรียน "ปารีณา" กางโทษ "มาตรฐานจริยธรรม" ผิดรุนแรงแค่ไหน “ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต”

บทเรียน "ปารีณา" กางโทษ "มาตรฐานจริยธรรม" ผิดรุนแรงแค่ไหน “ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต”

ทำความรู้จัก "มาตรฐานจริยธรรม" ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ให้ "ปารีณา ไกรคุปต์" ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

"ไม่มีสภาให้ไป ..ไม่มีไก่ให้เลี้ยง" ช่วงหนึ่งในคำตัดพ้อของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.เขต 3 ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ภายหลังทราบผลคำตัดสินศาลฎีกาพิพากษา ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง จนถูกตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 7 เม.ย.65 หลังถูกกล่าวหาเรื่องการบุกรุกป่าเพื่อทำฟาร์มเลี้ยงไก่ใน จ.ราชบุรี 

โดย เอ๋-ปารีณา นับเป็นนักการเมืองรายแรก ที่ศาลฎีกาพิพากษากรณี “ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” จากคดีดังกล่าวทำให้พ้นตำเเหน่ง ส.ส.ตั้งเเต่วันที่ 25 มี.ค.64 เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 10 ปี เเละไม่มีสิทธิลงเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต มีผลให้ไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235 วรรคสี่ และ พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 81, 87

โดยเฉพาะมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง 

  • "มาตรฐานจริยธรรม" คืออะไร ทำไมบทลงโทษจึงรุนแรงมาก

สำหรับ "มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ" หรือ “มาตรฐานจริยธรรมฯ” รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์แห่งชาติและต้องระบุให้ว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรงเพื่อให้เป็นการยึดถือปฏิบัติ

สำหรับมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ ยังบังคับใช้แก่ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรคสอง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมนี้เรียกว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561”

ข้อ 2  มาตรฐานทางจริยธรรมนี้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศเมื่อ 30 ม.ค.2561)

ข้อ 3 มาตรฐานทางจริยธรรมนี้บังคับใช้สำหรับ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ นอกจากนี้ยังบังคับใช้กับ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย

ข้อ 4 ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกันรักษามาตรฐานทางจริยธรรมนี้

  • ความร้ายแรงของบทลงโทษ ผิดแค่ไหน ถึงขั้น "ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต" 

สิ่งสำคัญในหมวด 1 “มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์” คือสิ่งที่ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งการทางเมืองต้องระมัดระวัง เพราะหากทำผิดไปอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาร้ายแรงที่สุดคือ “การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต” โดยต้องมีแนวปฏิบัติได้แก่

  • ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย ผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
  • ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
  • ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
  • ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่
  • ต้องไม่รับของขวัญของกำนัล ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้

นอกจากนี้ในหมวดที่ 4 “การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม” ยังระบุไว้ว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 เม.ย. 2565) มีนักการเมืองอีกอย่างน้อย 4 ราย ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และศาลฎีกาประทับรับฟ้องแล้ว ดังนี้

ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 3 ราย กรณีเสียบบัตรแทนกันในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2564 ประกอบด้วย

1.นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง 

2.นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง 

3.นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 1 ราย กรณีเสียบบัตรแทนกันในร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ ร.10 ประกอบด้วย

1.น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.