"เลิศรัตน์" ย้อนความ "ส.ส.พึงมี-คะแนนไม่ตกน้ำ" ชี้ตอนนี้มีคนใช้ผิด

"เลิศรัตน์" ย้อนความ "ส.ส.พึงมี-คะแนนไม่ตกน้ำ" ชี้ตอนนี้มีคนใช้ผิด

อดีตโฆษก ยกร่างรัฐธรรมนูญ ย้อนความเจตนารมณ์ ส.ส.พึงมี-ทุกคะแนนไม่ตกน้ำ ย้ำมีบางคนกล่าวอ้าง โดยไม่รู้ หวังประโยชน์ตัวเอง แนะให้ "พรรคเล็ก" ไปรวมตัวลงเลือกตั้ง แทนขอแก้กฎหมายลูกที่ทำลายการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

 

           พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ในฐานะอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กมธ.) ชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโร เป็นประธาน กล่าวต่อกรณีที่มีข้อเสนอของพรรคการเมืองและส.ส.​ต้องการให้ใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบปันส่วนผสม หรือ MMP  ว่า ในสมัยที่กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญและบัญญัติความให้มีส.ส.พึงมีนั้น สาระสำคัญ ที่เขียนไว้ชัดเจน คือ ให้คำนวณหา ส.ส.จากคะแนนทั้งหมดที่มีและหารด้วยจำนวนส.ส.ที่มี 500 คนจากนั้นให้นำคะแนนเฉลี่ยที่ไปคำนวณหากส.ส.ที่พรรคจะได้ โดยหักจากส.ส.เขตเลือกตั้ง ต่อมาในสมัย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำหน้าที่เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้นำวิธีคิดดังกล่าวไปใช้ แต่ปรับให้เป็นบัตรใบเดียว ดังนั้นจากที่จะนำคะแนนทั้งหมด ไปคำนวณหาส.ส. ให้ใช้แค่คะแนนเลือกตั้งเขต เพราะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว

 

 

           "และคำว่าพึงมี คือ หมายถึงเป็นแต่ละกรณี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1 ) พ.ศ. 2564 นั้นหมายถึง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นการหาคะแนนเฉลี่ยต้องใช้จำนวน 100 หาร และไม่สามารถย้อนไปใช้สูตรแบบ MMP ได้อีก เพราะรัฐสภาได้เห็นชอบให้ใช้ระบบคำนวณแบบคู่ขนานแล้ว อีกทั้งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่รัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ฉบับเขียนเนื้อหาไว้เหมือนกัน คือ ให้คำนวณโดยใช้ 100 หารส่วนที่มีคนเสนอให้ใช้ 500 หารนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

           พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ความหมายคือ ไม่ตัดเศษ หรือใช้เปอร์เซ็นต์คะแนนขั้นต่ำ เช่น 1% กำหนดเกณฑ์ที่พรรคจะได้ส.ส. ดังนั้นทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกส.ส.จะนำมาคิดคำนวณทั้งหมด ส่วนที่มีบางพรรคนำคำว่าเสียงไม่ตกน้ำไปใช้ เพราะต้องการให้ตนเองได้ประโยชน์ ได้คะแนนเลือกตั้งแค่ 3หมื่นคะแนน แต่อยากได้ส.ส. ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าเป็นการทำลายการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย 

 

           “ผมขอย้ำว่าคะแนนไม่ตกน้ำ คือ ไม่นำเปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำมาใช้ หากเอามาใช้จะทำให้คะแนนที่เลือกพรรคไม่ครบตามเกณฑ์ไม่นำมานับด้วย อย่างประเทศเยอรมันที่ใช้ระบบ MMP เขามีการตัดเปอร์เซ็นต์ ที่ 5% ทำให้ปัจจุบันมีพรรคการเมืองแค่  5 พรรคเท่านั้น และหากพรรคเล็กต้องการได้ส.ส. ควรไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น แข่งขันเลือกตั้ง หากได้คะแนน 2-3แสนคะแนน จะได้ส.ส. 1 คน” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

           เมื่อถามว่ายังมีวิธีคำนวณส.ส.รูปแบบอื่นที่ทำให้ พรรคได้ส.ส.ตามคะแนนนิยมที่แท้จริง และไม่บวกเพิ่ม เหมือนระบบคู่ขนานหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ระบบคิดคะแนนในการเลือกตั้ง มี 2 ระบบใหญ่ คือ 1.แบบ MMP ที่ใช้ใน 10 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมัน, ตุรกี, ญี่ปุ่น ใช้กับการเลือก ส.ว. ซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับของนายมีชัยนำมาใช้ และ 2.ระบบคู่ขนาน โดยเคยใช้เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 และนำกลับมาใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขปี 2564  เพราะในกรรมาธิการฯ ได้ตกลงกันว่าจะใช้ระบบดังกล่าว  ดังนั้นหากจะให้กลับไปใช้แบบ MMP ตอนนี้ทำไม่ได้ หากจะย้อนกลับไปต้องแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งตนมองว่าไม่มีเวลา เพราะอีก 1 ปีจะมีการเลือกตั้งส.ส.แล้ว 

 

           “คนที่จะเสนอคำแปรญัตติให้กมธ.พิจารณา สามารถเสนอได้ หากเขาชนะในชั้นกรรมาธิการ ต้องเข้าสู่รัฐสภาให้ลงมติอีก หากเขาชนะอีก ต้องส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว