กสม.ชง ป.ป.ช.ฟัน “ตำรวจ” ไม่คืนของกลาง แนะ ตร.ปฏิบัติตามระเบียบเคร่งครัด

กสม.ชง ป.ป.ช.ฟัน “ตำรวจ” ไม่คืนของกลาง แนะ ตร.ปฏิบัติตามระเบียบเคร่งครัด

กสม.ชง ป.ป.ช.ฟัน “ตำรวจ” ไม่คืนของกลาง แนะ ตร.กำชับให้ปฏิบัติตามระเบียบรักษาทรัพย์ของกลางในคดีอาญาอย่างเคร่งครัด หลังถูกร้องเรียนไม่คืน “ของกลาง” กว่า 14 ปี

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการ กสม. และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการ กสม. ร่วมแถลงข่าวว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องขังรายหนึ่งอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จับกุมในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดทรัพย์สินไว้เป็นของกลางในคดีอาญาหลายรายการ เช่น สร้อยคอทองคำ แหวนทองคำ พระเลี่ยมทอง สมุดบัญชีเงินฝาก สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ และอาวุธปืนสั้น ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ริบทรัพย์สินดังกล่าว แต่เมื่อผู้ร้องได้ติดต่อขอรับคืนทรัพย์สินแล้วหลายครั้ง กลับยังไม่ได้รับคืน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้องไม่ได้รีบดำเนินการส่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องภายในเวลาอันควร และต้องให้ผู้ร้องติดตามทวงถามและร้องเรียนต่อหน่วยงานอื่น ๆ จึงยอมขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง แต่ก็เป็นการชดใช้ค่าเสียหายภายหลังจากที่ผู้ร้องได้ร้องเรียนต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบ และเป็นระยะเวลากว่า 14 ปี นับแต่วันที่สำนักงาน ป.ป.ส. มีคำสั่งไม่ตรวจสอบทรัพย์สิน รวมทั้งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คืนรายการทรัพย์สินแก่ผู้ร้องด้วย การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้องจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ร้องสูญหาย อันเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 37 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 และไม่เป็นไปตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 15  บทที่ 1 ข้อ 415 ที่กำหนดไว้

กสม. เห็นว่า กรณีดังกล่าวนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องจึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยให้ สตช. ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ร้องสูญหาย และกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดทั่วประเทศที่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ของกลางในคดีอาญาให้ปฏิบัติตามกฎหมายและประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งเป็นของกลางในคดีอาญา พร้อมกันนี้ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไปด้วย