ทางออก "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"  ภาคประชาชน-ก้าวไกล ประสานเสียง ชะลอต่อสัมปทาน

ทางออก "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"  ภาคประชาชน-ก้าวไกล ประสานเสียง ชะลอต่อสัมปทาน

กมธ.คมนาคม สัมนา หาทางออก รถไฟฟ้าสายสีเขียว  ภาคประชาชน เสนอชะลอต่อสัมปทาน แนะ รัฐ-กทม.จ่ายหนี้ BTS ชี้ ค่าโดยสาร 25บาททำได้ ส่วน คมนาคม ย้ำลดค่าแรกเข้า ก้าวไกล แนะใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี62 แก้ปัญหา  

19 ก.พ.2565 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร โดย นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฏร ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ ‘สายสีเขียวจะไปอย่างไรต่อ’ โดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

นายโสภณ กล่าวว่า จากกรณีที่ประชาชนมีการวิพากวิจารณ์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของรัฐ ทำให้ กมธ.คมนาคม มีความเป็นห่วง ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ จึงมีความเห็นที่จะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้รับผิดชอบทั้งกระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงคมนาคม มาสัมมาเพื่อหาทางออก เพื่อให้ได้ทราบสถานะรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเพื่อให้ได้เข้าใจถึงวิธีและทราบข้อมูลการเสนอต่ออายุสัมมปทานว่าจะเป็นผลดีผลเสียต่อประชาชนอย่างไร หากเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้อย่างไร และเพื่อเป็นการหาทางออกร่วมกัน

ผู้เข้าร่วมสัมมนา อย่างนางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวบนเวทีสัมมนาว่า จะเป็นโอกาสที่ทำให้เข้าไปจัดการรถไฟฟ้าทั้งระบบได้ โดยจะต้องชะลอการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งบริษัทจะไม่เสียสิทธิ์ เพราะยังอยู่ในระยะเวลา และมองว่า รัฐบาลและ กทม.จะต้องจ่ายหนี้บริษัท เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องและบริษัทไม่เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

 และองค์กรผู้บริโภคมองว่า ราคา 25 บาทต่อเที่ยวประเทศไทยสามารถทำได้ โดยการเอาจำนวนเที่ยวทั้งหมดต่อปีบวกค่าใช้จ่ายในการเดินรถ คำนวนออกมาแล้ว เพื่อให้ราคาเป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งราคาปัจจุบัน65บาท ถือเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรม

 ทั้งนี้ มีข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นข้อเสนอถึงปี 2572 โดยให้มีการเก็บค่าโดยสาร 15-44บาท โดยรวมส่วนต่อขยายทั้งหมด และคิดอัตราค่าโดยสารใหม่ โดยกำหนดหลักเกณฑ์คิดตามระยะทาง เช่น เพิ่มสถานีละ1บาท สูงสุด44บาท เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงรถไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึง หารายได้จากสถานีส่วนต่อขยาย เช่น เปิดเช่าพื้นที่ ค่าโฆษณา ค่าเชื่อมต่อสถานี อีกทั้ง กทม.และรัฐบาลจะต้องจ่ายหนี้บริษัททั้งหมด

 

  
ส่วนข้อเสนอหลังหมดสัญญาสัมปทาน หลังปี 2572 จะต้องเปิดประมูลการเดินรถ โดยกำหนดเงื่อนไข มาตรฐานการบริการ และราคาต่ำสุดสำหรับประชาชนแต่ต้องไม่เกิน25บาทต่อสาย และให้แยกประมูลหารายได้จากส่วนต่อขยาย ทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าโฆษณาสถานี ค่าเชื่อมต่อสถานี ทั้งนี้ทางองค์กรผู้บริโภค ก็จะเปิดให้ร่วมลงชื่อคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วย

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวบนเวทีเสวนา ว่า กระทรวงมหาดไทย รับฟังความคิดเห็นในข้อเสนอทุกข้อจากทุกฝ่าย เช่น เรื่องการลดค่าโดยสาร ที่ได้ข้อมูลจาก กทม.ว่า ถ้าไม่เป็นหนี้ก็สามารถลดราคาได้ แต่หากเป็นหนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่ง กระทรวงมหาดไทยก็จะรับฟังข้อมูลต่างๆที่เป็นข้อเสนอ เพื่อนำไปหารือกับ กทม. ก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูล

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม มี3หน้าที่คือ ผู้ปฏิบัติ ผู้กำกับดูแล เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้มอบหมายให้ กระทรวงคมนาคมดำเนินการ และที่กระทรวงคมนาคมรับมาดำเนินการดูแลรับผิดชอบเพราะอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร

และชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม พยายามที่จะช่วยเหลือและบรรเทาภาระให้กับประชาชน ในการคิดค่าโดยสาร เพราะจากการสำรวจพบว่า ประชาชนไม่เดินทางตั้งแต่ต้นสายยันปลายสาย แต่เดินทางไม่เกิน12กิโลเมตร ดังนั้นการคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบันราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับค่าโดยสารแรกเข้าที่มีราคาเริ่มต้นสูงเช่นกัน แต่หากมีการใช้สูตรคำนวนค่าแรกเข้าเหมือนรถไฟฟ้า MRT ก็จะทำให้ค่าโดยสารถูกลงถึง14บาท

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในอนาคตไว้แล้ว ว่าหากใครจะมาเป็นผู้ถือสัมปทาน จะต้องไม่คิดค่าแรกเข้า สำหรับผู้ที่เดืนทางมาจากระบบขนส่งมวลชนต่างสาย โดยส่วนนี้มองว่า จะช่วยลดค่าโดยสารให้กับประชาชนในสายนั้นๆได้ ซึ่งตนเองตั้งคำถามว่า การเขียนสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้คำนึงถึงเรื่องนี้หรือไม่

ส่วนนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทานตามร่างสัญญาปัจจุบัน และตั้งแต่ปี 2562 พรรคก้าวไกลได้ต่อสู้เรื่องนี้มาตลอด ทั้งการปกปิดการต่ออายุสัมปทาน ที่มองว่า มีการใช้ ม.44 ไปเจรจาแบบไม่เปิดเผยในการต่อสัมปทานอีก30ปี จากเดิมที่เหลือ7ปี ทำให้ไม่ว่มารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้จึงเสนอใช้ พรบ.ร่วมทุนปี 2562 ในการแก้ไขปัญหา
  ทั้งนี้ยังมองว่าอีกว่า งานเสวนา เกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวในแต่บะเวทีไม่เคยมีตัวแทนของ กทม. และ บีทีเอส มาร่วมวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น