“กรณ์” ถกนโยบาย “ทูตเกาหลี” หารือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต่อยอด Soft Power

“กรณ์” ถกนโยบาย “ทูตเกาหลี” หารือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต่อยอด Soft Power

“กรณ์” หัวหน้าพรรคกล้า ถกนโยบาย “ทูตเกาหลี” หารือ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” สร้างแรงงานทักษะสูง หวังต่อยอดนโยบาย “Soft Power”

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายกรณ์ จาติกวณิช เข้าพบนายมุน ซึง ฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย พร้อมรับประทานอาหารเกาหลีร่วมกัน โดยนายกรณ์ กล่าวว่า ตนสั่งอาหารโดยไม่ต้องดูเมนู เพราะฝังหัวมาจากการดูซีรีส์ต่าง ๆ มาประมาณ 30 เรื่อง ท่านทูตหัวเราะชอบใจ นายกรณ์ยังกล่าวติดตลกว่า ท่านเพิ่งมาประจำประเทศไทยได้เพียงเดือนเดียว ดังนั้นท่านอาจจะไม่รู้ว่าอาหารประจำชาติของเราตอนนี้มีหมูกระทะติดเป็นอันดับต้น ๆ

"เราเริ่มบทสนทนาเชิงนโยบายกัน ท่านบอกว่าท่านได้ยินชื่อผม เพราะท่านทูตอเมริกันเล่าให้ท่านฟังว่าผมไปบรรยายเรื่องการหารายได้เข้าประเทศของเกาหลีด้วย "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ในงาน US-Asean วันนี้เลยได้ถกกับตัวแทนประเทศเชิงลีกกันหลายเรื่อง ท่านอยากทราบว่า ท่านควรต้องคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีอย่างไรเพื่อให้เขามาลงทุนในไทย เพราะตอนนี้หลายบริษัทหาแนวทางกระจายความเสี่ยงออกจากจีน ซึ่งผมได้แนะนำให้ท่านไปเยี่ยมชมและศึกษาโครงการ EEC" หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า นอกนี้ยังได้พูดคุยกันถึงปัญหาระบบการศึกษาไทยที่มีแรงงานทักษะสูงน้อยไม่ทันต่อการลงทุน รวมไปถึงปัญหาระบบราชการไทยที่คลุมเครือในหลายเรื่องที่นักลงทุนต่างชาติต้องการความชัดเจน และยังถามท่านเรื่องวิวัฒนาการการเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก ซึ่งท่านเล่าว่า รัฐบาลเกาหลีปรับเบี้ยเลี้ยงให้ทหารเกณฑ์เพิ่มขึ้น 100 เท่าจากเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน และลดเวลาเกณฑ์ลงจาก 3 ปีเป็น 2 ปี และผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีที่แข่งขันกันอยู่ ณ ปัจจุบันมีข้อเสนอเพิ่มเบี้ยขึ้นอีกประมาณ 5 เท่า (เพื่อจ่ายเป็นเงินก้อนเมื่อครบ 2 ปี ให้ใช้เป็นทุนประเดิมในการเริ่มต้นชีวิตการงาน) ส่วนระหว่างการเป็นทหารเกณฑ์ก็มีการฝึกวิชาชีพมากมายรวมไปถึงการทำ coding และทักษะยุคดิจิทัลอื่น ๆ

นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า ตนได้ถามท่านทูตถึงข้อยกเว้นการเกณฑ์ซึ่งท่านตอบว่า ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะมีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นบุตรคนเดียวที่มีภาระดูแลพ่อแม่ ประเด็นปัญหาคือตอนนี้เกาหลีมีอัตราเด็กแรกเกิดที่ตํ่าที่สุดในโลก และแทบไม่มีใครมีลูกเกิน 1 คน ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ แทบทุกคนจะได้รับ การยกเว้น และกองทัพเกาหลีจะขาดทหารเกณฑ์ดังนั้น การที่มีการปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยง น่าจะเป็นก้าวหนึ่งในการเตรียมสร้างแรงจูงใจให้กับการอาสาเป็นทหารในอนาคต ซึ่งแนวคิดนี้ตรงกับของผมที่ผมเคยเสนอเป็นนโยบายตั้งแต่ตอนอยู่ประชาธิปัตย์ นั่นคือการเพิ่มเบี้ยตอบแทนพลทหาร เพิ่มมิติการฝึกทักษะ และเปิดโอกาสให้มีเส้นทางการเติบโตในกองทัพ ทั้งหมดนี้จะทำให้มีทหารอาสาโดยสมัครใจเพิ่มขึ้น และลดความจำเป็นในการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะในกรณีเยาวชนคนไทยที่มีภาระดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

"เรื่อง "แรงงานทักษะสูง" กับ "เกณฑ์ทหาร" เหมือนจะเป็นคนละเรื่อง แต่มุมมองทางนโยบายสามารถปรับพัฒนาให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ครับ ผลต่อประชาชนจะทวีคูณ ฝึกวินัย ฝึกความแข็งแรง หากได้ฝึกอาชีพแบบทักษะสูงขึ้นเพื่อรองรับอาชีพใหม่ๆ จะยิ่งมีแรงจูงใจอีกมาก ส่วนเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเกาหลี พลาดไม่ได้เช่นกัน แต่ขออุบไว้เล่าคราวหน้านะครับ" หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว