“วิโรจน์” ชง 4 ข้อเสนอ บี้ กทม.แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางม้าลาย

“วิโรจน์” ชง 4 ข้อเสนอ บี้ กทม.แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางม้าลาย

“วิโรจน์” ผุดไอเดียชง 4 ข้อเสนอ บี้ “กทม.” ทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาอุบัติเหตุ “ทางม้าลาย” ชี้ต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ลั่นแม้มีอำนาจจำกัด แต่จะนิ่งนอนใจไม่ได้

เมื่อเวลา 12.00 น. 2565 วันที่ 29 ม.ค. 2565 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่าเป็นที่น่ากังวลที่ต่อปีมีผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินเท้าเดินถนน 740 คน โดยใน กทม.มีผู้เสียชีวิต 250 ราย ซึ่งจากจำนวนทางม้าลายทั้งหมดประมาณ 4,160 แห่ง ทั่ว กทม. พบว่ามีการทาสีให้เด่นชัดเพียง 621 แห่ง และจากการตรวจสอบในปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีแผนที่จะทาสีให้ชัดขึ้นเพิ่มอีก 117 แห่ง เท่ากับว่าในปี 2565 จะมีทางม้าลายที่ได้รับการปรับปรุงให้เส้นชัด มีการทาสี 738 แห่ง จาก 4 พันกว่าแห่ง

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ส่วนการติดสัญญาณไฟคนข้ามทางม้าลายแม้จะติดทุกจุดไม่ได้ แต่ในจุดที่อยู่หน้าโรงพยาบาล หน้าโรงเรียน และมีคนข้ามถนนจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการติดตั้งสัญญาณไฟคนข้าม แต่ในงบประมาณปี 2565 มีแผนจะติดสัญญาณไฟคนข้ามเพียง 54 แห่งเท่านั้น ซึ่งคงไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของคนเดินเท้าตามท้องถนนได้ ทั้งนี้ตนได้ใช้แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue! เพื่อเปิดให้ประชาชนร่วมแจ้งเรื่องทางม้าลายที่ไม่ปลอดภัย พบว่ามีการแจ้งข้อร้องเรียนมาแล้ว 102 เรื่อง โดยเป็นปัญหาเส้นไม่ชัด 56 เรื่อง ไม่มีสัญญาณไฟคนข้าม 19 เรื่อง รถไม่หยุดให้คนข้าม 11 เรื่อง และเรื่องอื่นๆ 10 เรื่อง โดยเรื่องที่ได้รับแจ้งมานี้เราจะจัดทำรายงานสรุปปัญหาทางม้าลายที่ไม่สมบูรณ์ และยื่นรายงานฉบับนี้ให้สำนักจราจรและขนส่ง กทม. เพื่อนำไปปรับปรุง ซึ่งเราจะกัดไม่ปล่อยเรื่องนี้และจะติดตามความคืบหน้าทุกสัปดาห์

นายวิโรจน์ กล่าวว่า จากการลงสำรวจพื้นที่จริงพบปัญหารถไม่หยุดให้คนข้ามเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นการกวดขันเรื่องวินัยจราจรและการบังคับใช้กฎหมายเป็นการบวนการที่สำคัญมากและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะไม่ใช่หน้าที่และอยู่ในอำนาจของกทม.โดยตรง แต่ก็ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาปัญหาของเหยื่อที่เป็นคนกรุงเทพมาเป็นปัญหาของเรา ต่อให้อำนาจจำกัดก็นิ่งนอนใจไม่ได้ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กทม.ต้องดิ้นรนเพื่อแก้ปัญหาไม่ใช่ผลักภาระให้กับเหยื่อที่ถูกชน แต่กทม.ควรรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อเป็นเจ้าทุกข์แทนคนกรุงเทพ หากไม่มีความเอาใจใส่เรื่องนี้จะแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีมาใช้กับกทม.ควรเอาปัญหานำ ตามด้วยความใส่ใจ และแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาทางม้าลาย กทม. คือ 1.แก้โครงสร้างวิศวกรรมทางม้าลาย 4,160 แห่ง ให้ปลอดภัยสำหรับคนกรุงเทพทันที อาทิ ทำให้เส้นทางม้าลายชัดเจน ติดสัญญาณไฟคนข้าม มีกล้องวงจรปิดกล่องตรวจจับความเร็ว มีเส้นชะลอความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย 2.เชื่อมไฟคนข้ามกับไฟแดงสี่แยก เพื่อให้การเปิดปิดไปสอดคล้องกัน ลดความเสี่ยงทั้งคนใช้รถและคนข้ามถนน เพิ่มทางม้าลายบนแยกวัดใจ เพื่อลดอุบัติเหตุ 3.บังคับใช้กฎหมายจราจรด้วยการจี้ และเป็นเจ้าทุกข์ร้องตำรวจจราจรให้บังคับใช้กฎหมาย โดย กทม.ต้องทำงานเชิงรุกการเป็นเจ้าทุกข์ แจ้งความรถผิดกฎจราจร เพื่อกระตุ้นให้ตำรวจทำงานเชิงรุก ไม่ใช่ให้เจ้าทุกข์ที่ถูกรถชนบนทางม้าลายไปจดทะเบียนรถและแจ้งความเอง กทม.ต้องใช้ระบบตรวจจับและกล้องที่มีอยู่ทั้งหมดบันทึกหลักฐานและแจ้งต่อตำรวจจราจร และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นกทม.ควรเป็นตัวกลางประสานงานให้คนที่ไม่จ่ายค่าปรับต่อทะเบียนรถไม่ได้ เพื่อทำให้ใบสั่งศักดิ์สิทธิ และ 4. กทม.ทำงานเชิงรุก ไม่ต้องรอประชาชนแจ้ง โดยต้องตรวจสอบทางม้าลายอย่างสม่ำเสมอ ให้อยู่ในสภาพที่ชัดเจน พร้อมใช้งานและมีความปลอดภัย โดยอาจใช้กลไกรถเก็บขยะ รถกวาดถนน รถรถน้ำต้นไม้ โดยติดตั้งกล้องและอุปกรณ์ในการตรวจจับและยกระดับทางม้าลาย