กางระเบียบยุค "ทักษิณ"   ไขงบลับ "กลาโหม" เขย่ง 500+21

กางระเบียบยุค "ทักษิณ"   ไขงบลับ "กลาโหม" เขย่ง 500+21

"กระทรวงกลาโหม" ได้รับจัดสรรงบประมาณ ในส่วนของงบลับที่บรรจุในงบประมาณ 2565 กว่า 500 ล้านบาท โดยผ่านความเห็นชอบรัฐสภาไปแล้ว โดยจัดสรรให้กับเหล่าทัพ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง แต่ในส่วนที่งอกมาใหม่ 21.69 ล้านบาท อาจรองรับภารกิจเฉพาะในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

"งบลับ" มีการใช้มาทุกยุคทุกสมัย เพื่อรองรับภารกิจด้านความมั่นคง โดย "กระทรวงกลาโหม" ได้เปรียบเทียบตัวเลขการใช้งบลับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่คงระดับร้อยละ 0.03 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ใกล้เคียงกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่น้อยกว่ายุครัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" เมื่อปี 2547-2549 อยู่ที่ระดับร้อยละ 0.05 

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อ 23 พ.ย.2564  ได้อนุมัติงบปกติ เป็นงบลับ จำนวน 21.69 ล้านบาท รับภารกิจศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม หลังก่อตั้งมาปีเศษ ทำหน้าที่บัญชาการงานระดับนโยบาย เพื่อใช้จ่ายในราชการลับ ภารกิจปกปิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงและป้องกันราชอาณาจักร เช่น ยาเสพติด การข่าว ภารกิจอื่นทั้งสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยเจ้าหน้าที่และประชาชน

ภารกิจแรกของ "ศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม" การบูรณาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้ง กองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน  กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ และอื่นๆ โดยมี รมว.กลาโหม เป็นประธาน 

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า การใช้งบลับ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้งบประมาณเงินราชการลับ พ.ศ. 2547  ซึ่งการใช้งบประมาณต้องได้รับการตรวจสอบตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 โดย สตง. ได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ พ.ศ. 2545

"งบก้อนนี้เป็นของเหล่าทัพ แต่เปลี่ยนให้เป็นงบลับโดยต้องขออนุมัติ ครม. ให้เห็นชอบ คล้ายกับ การโยกงบจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา เพื่อวัตถุประสงค์ 1.งานด้านความมั่นคง 2.การแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด 3 งานด้านการข่าว 4.งานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศและเทคโนโลยี  และต้องรายงานให้นผลสัมฤทธิ์ของงานให้นายกฯทราบทุก 3 เดือน "

พล.อ.คงชีพ ย้ำถึงความจำเป็นจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม เพื่อบูรณาการบัญชาการระดับนโยบายความมั่นคง ทั้งเหล่าทัพ กระทรวง และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เน้นไปที่งานด้านการข่าวความมั่นคงการป้องกันประเทศการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน การประสานกิจการกับต่างประเทศ  งาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การรักษาความมั่นคงภายใน ภัยพิบัติขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การสู้รบใช้กำลังแนวชายแดน 

โดยเฉพาะการรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสำคัญต่างๆ ทั้งระดับอาเซียนและภูมิภาค โดยเฉพาะปี 2565 ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในการประชุมเอเปค  (APEC 2022) การใช้งบประมาณติดตาม เครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลมาเชื่อมโยงและตัดวงจรเครือข่ายดังกล่าว

 "การปฏิบัติมีทั้งด้านยุทธวิธี โดยหน่วยระดับล่างเป็นผู้ปฏิบัติ เช่น ระดับกองพล แต่หากเป็นยุทธการ ก็ระดับเหล่าทัพ  ส่วนระดับงานยุทธศาสตร์ นโยบาย การบริหารในภาพใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นๆ กระทรวงกลาโหม ต้องใช้ศูนย์ดังกล่าวในการบูรณาการทำงาน "  พล.อ.คงชีพ ระบุ

สำหรับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้งบประมาณเงินราชการลับ พ.ศ.2547 ที่บัญญัติขึ้นรัฐบาลยุค ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ระบุเอาไว้ว่า เพื่อให้การใช้งบประมาณเงินราชการลับมีผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังนี้
            1.ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี” ว่าด้วยการใช้งบประมาณเงินราชการลับ พ.ศ.2547
            2.ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
            3.ในระเบียบนี้ “งบประมาณเงินราชการลับ” หมายความว่า เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กำหนดให้เป็นเงินราชการลับ หรือที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมให้เป็นเงินราชการลับ หรือเป็นเงินที่ใช้จ่ายดำเนินงานในลักษณะปกปิด
            “ส่วนราชการ” หมายความว่า ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินราชการลับไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติม
            “หัวหน้าส่วนราชการ” หมายความว่า หัวหน้าของส่วนราชการที่มีอำนาจสั่งจ่ายงบประมาณเงินราชการลับ
            4.การขอรับการจัดสรรงบประมาณเงินราชการลับให้กระทำได้ ในภารกิจดังต่อไปนี้
            (1) ภารกิจด้านความมั่นคงและการป้องกันราชอาณาจักร
            (2) ภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
            (3) ภารกิจด้านการข่าว
            (4) ภารกิจอื่นที่มีลักษณะปกปิด เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือโดยสภาพแห่งเทคโนโลยี
            การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดย ให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติงาน ซึ่งต้องระบุวัตถุประสงค์และวิธีการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวโดยเสนอให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ
            5.การจัดสรรงบประมาณเงินราชการลับ ให้กระทำได้ภายในวงเงิน วัตถุประสงค์และตามวิธีการใช้จ่ายตามแผนปฏิบัติงานที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ
            6.การสั่งจ่ายงบประมาณเงินราชการลับ ให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยข้าราชการในส่วนราชการนั้นอย่างน้อยสี่คน โดยหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน รับผิดชอบการใช้จ่ายงบประมาณเงินราชการลับให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน โดยให้มีการจัดทำบัญชีการรับ-จ่ายเงิน และหลักฐานการจ่ายไว้ตรวจสอบด้วย
            เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเงินราชการลับมีผลสัมฤทธิ์ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชการ หัวหน้าส่วนราชการอาจกำหนดระเบียบภายในเกี่ยวกับการใช้งบประมาณเงินราชการลับเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ขัดต่อระเบียบนี้
            7.ให้หัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินราชการลับต่อนายกรัฐมนตรีเป็นประจำทุกสามเดือน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ หรือวันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมเงินราชการลับ รวมถึงคำชี้แจงหรือข้อเสนออื่นเพื่อประโยชน์แก่ราชการ
            8.ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้และวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
            ประกาศ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547
            ลงนาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดยที่ผ่านมา "กระทรวงกลาโหม" ได้รับจัดสรรงบประมาณ ในส่วนของงบลับที่บรรจุในงบประมาณ 2565 กว่า 500 ล้านบาท โดยผ่านความเห็นชอบรัฐสภาไปแล้ว แบ่งเป็น ของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม 32 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 60 ล้านบาท สถาบันป้องกันประเทศ 20 ล้านบาท กองทัพบก 290 ล้านบาท กองทัพเรือ 62 ล้านบาท และกองทัพอากาศ 30 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมภารกิจด้านความมั่นคงอยู่แล้ว 

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า งบลับ 21.69 ล้านบาท ที่งอกมาใหม่ อาจใช้ภารกิจเฉพาะในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หลัง"กลาโหม" คาดการณ์ สภาบริหารแห่งรัฐ (เอสอาร์ซี) เมียนมา เตรียมใช้กำลังปราบปรามกลุ่มต่อต้านและชนกลุ่มน้อยตามชายแดน โดยเฉพาะ จ.ตาก และแม่ฮ่องสอนที่กำลังครุกรุ่นอยู่ขณะนี้