จังหวะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ “ทางเลือก-ทางแรง” รัฐบาล

จังหวะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ “ทางเลือก-ทางแรง” รัฐบาล

การตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครั้งที่สอง จะถูกนำไปเป็นเงื่อนไขในการชุมนุมของ “ม็อบ 3 นิ้ว” แต่มีการประเมินแล้วว่า การตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถปลุก “ม็อบ 3 นิ้ว” ให้กลับมามีพลังเหมือนเดิมได้

ความหวังหนึ่งของ “ม็อบ 3 นิ้ว” คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังให้เกิดเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง จึงมีความพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้จัดตั้ง ส.ส.ร. แต่การชุมนุมของ “ม็อบ 3 นิ้ว” อ่อนแรงลงเสียก่อน “พรรคร่วมรัฐบาล” จึงผนึกกับ “ส.ว.” โหวตคว่ำวาระสามอย่างง่ายดาย

มารอบนี้ “ไอติม”พริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,257 คน เป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช … ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279

โดยจะต้องได้คะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 362 จากสมาชิกทั้งหมด 723 เสียง (ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มี 475 คน / ส.ว. 248 คน) ในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 83 คน ถึงจะผ่านการพิจารณาวาระแรก

แน่นอนว่า “ขั้วฝ่ายค้าน” เตรียมโหวตรับหลักการวาระแรกแบบไม่แตกแถว เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามามีเป้าประสงค์ล้ม “250 ส.ว.” ซึ่งถือเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่การเลือกตั้งครั้งหน้า แม้จะพอมีโอกาสชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่ก็ยากที่จะจัดตั้งรัฐบาล เพราะ “ขั้วประยุทธ์” ยังมีเสียงจาก “250 ส.ว.” ค้ำยันอยู่

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น หากหวังจะพลิกขั้วจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลบ 250 ส.ว.ออกจากสมการทางการเมืองให้ได้

นอกจากนี้ การอยู่ข้างประชาชน ด้วยการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อแก้ไข ยังได้แต้มทางการเมือง ได้แต้มจาก “คนรุ่นใหม่” ที่นับวันมีแต่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะหันไปสนับสนุน “ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล”

ฉะนั้น “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” จะร่วมด้วยช่วยกันผลักดันให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาวาระแรกอย่างแน่นอน แต่อาจไปติดตรงเสียงของ “พรรคร่วมรัฐบาล-250 ส.ว.”

หากไล่ดูท่าทีของ “พรรคร่วมรัฐบาล” แล้ว ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะปมสภาเดี่ยวที่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกโรงคัดค้าน เพราะต้องการให้มี ส.ว. ไว้คอยถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง ยิ่งในสถานการณ์ที่อาจจะมีพรรคการเมืองที่ครองเสียข้างมากในสภาแบบล้นหลาม หากไร้ ส.ว. อาจเกิดวาทะ “เผด็จการรัฐสภาภาค 2

ที่สำคัญ ชื่อของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นหนึ่งในผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ลุกขึ้นชี้แจงในสภา ยิ่งทำให้ “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” ค่อนข้างแสลงใจ เนื่องจาก “ปิยบุตร” มีครหาว่าอยู่เบื้องหลังคอยขับเคลื่อน “ม็อบ 3 นิ้ว”

ทุกย่างก้าวของ “ปิยบุตร” และทุกโพสต์เขา มักวนเวียนกับทฤษฎีการล้มล้างการปกครอง เมื่อ “ปิยบุตร” เป็นหนึ่งในผู้เสนอร่าง จึงยากที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะไว้ใจ

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา “ไอติม พริษฐ์” ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ แต่ระยะหลังเดินกันคนละทิศ “พริษฐ์” มีแนวคิดทางการเมืองที่สอดคล้องกับ “คณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกล” มากกว่า

ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะปล่อย ส.ส.ฟรีโหวต และมีโอกาสสูงที่ ส.ส. จะเลือกโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

ขณะเดียวกันท่าทีของ “ส.ว.” แม้จะได้อภิปรายไม่ครบ 250 คน แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยากที่จะฝ่าด่าน ส.ว.ไปได้ เนื่องจากเนื้อหาล้าง ส.ว. ออกจากกระดานการเมือง

อย่าลืมว่าภารกิจของ 250 ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก “พล.อ.ประยุทธ์-เครือข่ายคสช.” คือการสนับสนุนให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ส.ว. บ่งบอกในตัวอยู่แล้วว่าต้องโหวตเลือก “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 2 สมัย

จังหวะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ “ทางเลือก-ทางแรง” รัฐบาล

ดังนั้นจึงไม่มีทางเลยที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. อย่างน้อย 83 เสียง จึงจะปลดล็อกเงื่อนไขผ่านร่างในวาระแรกได้

ยิ่งในช่วงที่การชุมนุมของ “ม็อบ 3 นิ้ว” อ่อนแอ-อ่อนแรงลงมาก “พรรคร่วมรัฐบาล-250 ส.ว.” ไม่มีเงื่อนไขภายนอกให้ต้องกังวล จึงตัดสินใจรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งบรรยากาศทางการเมืองแตกต่างกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เมื่อปี 2563 อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครั้งที่สอง จะถูกนำไปเป็นเงื่อนไขในการชุมนุมของ “ม็อบ 3 นิ้ว” แต่มีการประเมินแล้วว่า การตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถปลุก “ม็อบ 3 นิ้ว” ให้กลับมามีพลังเหมือนเดิมได้

กลเกมทางการเมืองเวลานี้เข้าทาง “พล.อ.ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล-250 ส.ว.” ที่จะผนึกกันเดินหน้า เพื่อต่อยอดผลงาน โกยคะแนนเสียง เพื่อวางรากฐานไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ฟันธงได้เลยว่า การโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ยากที่จะผ่านการพิจารณาของ “รัฐสภา” เพราะการโหวตผ่านในจังหวะนี้ เท่ากับเป็นการเลี้ยงเชื้อ สร้างเงื่อนไขให้ปลุกระดม “ม็อบ 3 นิ้ว” ในวาระการพิจารณาต่อไปได้  “ผู้มีอำนาจ” จึงต้องเลือกตัดไฟตั้งแต่ต้นลม