"ประวิตร"สั่งทำแผนรับมือน้ำท่วม ฤดูฝนปี65 พร้อมผุดมาตรการสู้ภัยแล้ง

"ประวิตร"สั่งทำแผนรับมือน้ำท่วม ฤดูฝนปี65 พร้อมผุดมาตรการสู้ภัยแล้ง

"ประวิตร" เผย "รัฐบาล" บริหารจัดการน้ำท่วม เต็มประสิทธิภาพ บรรเทาความเดือดร้อนปชช. ระบุ กำหนดมาตรการเชิงป้องกัน รับมือฤดูฝน ปี65 เพิ่มเวลารับมือล่วงหน้ามากขึ้น ทั้งสั่งจัดการภัยแล้ง ให้มีประสิทธิภาพ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2564 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน / กรมทรัพยากรน้ำ / กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย / การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย / สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุหลายลูก ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและมีน้ำไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะริมแม่น้ำที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำแม้ว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 และบริหารจัดการน้ำท่วมตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและความเสียหายของประชาชน โดยการประชุมในวันนี้ ได้ติดตามผลการดำเนินงานทั้งหมดในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา รวมถึงจัดทำแผนการระบายน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นรูปธรรมพร้อมทั้งทบทวนปัญหาและอุปสรรคต่างๆเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข และสำหรับฤดูฝนถัดไปในปี 65 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้มีการวางแผนและกำหนดมาตรการเชิงป้องกันให้แล้วเสร็จก่อนเดือน กุมภาพันธ์ 65 เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้ามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันที่ประชุมยังติดตามความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินและวางแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อเตรียมพื้นที่รองรับน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างฯ บางลาง มีแผนพร่องน้ำในช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม 64 เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 65 

ทั้งนี้จะดำเนินการควบคู่กับการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้มอบหมายให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมชลประทาน ใช้กลไกคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในการปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

 

ด้านดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ยังได้สั่งการและกำชับทุกหน่วยเกี่ยวข้องซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ โดยเตรียมทั้งในเรื่องบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์เครื่องจักรกลต่างๆ พร้อมตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้เต็มศักยภาพตามสถานการณ์น้ำที่เป็นจริงในแต่ละช่วงเวลา และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ไปจนถึงการตรวจสอบพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและเส้นทางคมนาคม รวมทั้งเร่งกำจัดวัชพืช ขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำ และเร่งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัดให้เกิดความพร้อมสูงสุดด้วย  และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ตามที่ สทนช.เสนอ รวม 9 มาตรการ ได้แก่ 

1) เร่งเก็บกักน้ำในทุกแหล่งน้ำให้มากที่สุด 

2) จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 

3) ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตร 

4) กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ติดตาม กำกับให้เป็นไปตามแผน 

5) วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ส่งเสริมสนับสนุนการเพาะปลูก 6) เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ 

7) เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ในแม่น้ำสายหลัก สายรอ

8) ติดตามประเมินผล 

9) สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนจัดสรรน้ำ 

โดยได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนตามมาตรการที่กำหนด และขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 โดยวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อขับเคลื่อน 9 มาตรการข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

1) การวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนในเขตและนอกเขตชลประทาน เพื่อประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง แบ่งเป็นพื้นที่อุปโภค บริโภค และพื้นที่เกษตรกรรม 

2) แผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การ(ณ วันที่ 1 พ.ย. 64) ทั้งประเทศ รวม 67,618 ล้าน ลบ.ม. ซี่งมากกว่าปี 2563 ถึง 25,739 ล้านลบ.ม. โดยสามารถจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนในแต่ละกิจกรรม รวม 30,961 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น1.อุปโภค-บริโภค 2. รักษาระบบนิเวศ 3.การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และ 4. สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากน้ำในแก้มลิง ทุ่งรับน้ำ และแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เก็บกักไว้เพื่อตัดยอดน้ำหลากมาใช้ในฤดูแล้ง ทำให้แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 64/65 ทั้งประเทศรวม 11.65 ล้านไร่