องค์กรผู้บริโภค หนุนกทม.จ่ายหนี้ BTS เคาะราคาตลอดสาย 44 บาท ลดดภาระปชช.

องค์กรผู้บริโภค หนุนกทม.จ่ายหนี้ BTS เคาะราคาตลอดสาย 44 บาท ลดดภาระปชช.

สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอให้กทม.จ่ายหนี้ BTS กำหนดราคาค่าโดยสารตลอดสาย ที่ 44 บาท หวังลดภาระค่าครองชีพประชาชน ขณะที่กระทรวงคมนาคม จี้มท.-กทม.เร่งเคลีบร์ปัญหาการจ่ายหนี้

หลังคณะรัฐมนตรี ถอนวาระ การพิจารณาขอต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สะสมที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ค้างจ่ายการเดินรถให้บีทีเอสอีกครั้ง

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค   กล่าวว่า การให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังมีเวลาพิจารณาหาแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสม เพราะสัญญาจะหมดในปี 2572   โดยเห็นด้วยให้ กทม.จ่ายหนี้ BTS โดยจะพัฒนาหาประโยชน์ในส่วนขยายคูคต-หมอชิต  เพื่อนำรายได้มาจ่ายหนี้ และเห็นว่ารัฐบาลควรจะค้ำประกันเงินกู้ให้กับ กทม.เพื่อสามารถจ่ายหนี้ได้   

นอกจากนี้ยังเสนอให้ กทม.เข้ามาดูแลการเดินรถ และกำหนดค่าโดยสารตลอดสาย แต่ไม่เห็นด้วยกับกทม.ที่เสนอเก็บค่าโดยสาร 65 บาทเพราะไม่มีที่มาที่ไป แต่ควรจะกำหนดราคา  44 บาท ซึ่งทำให้ผู้บริโภค ไม่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นด้วย
 

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า   ไม่ได้ติดปัญหาในเรื่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ขณะนี้ยังติดหนี้ การจ่ายค่าเดินรถให้กับ BTS  ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ยังติดหนี้ค่าเดินรถของ BTS กว่า หมื่นล้าน บาท  

ขณะที่ในส่วนต่อขยาย หมอชิต-คูคต ที่เก็บค่าโดยสารในราคา 15 บาท  และบางหว้า-สะพาน 2 ยังไม่เก็บค่าโดยสาร และอยู่ระหว่างการเสนอแผนในการพัฒนาส่วนต่อขยายเพื่อหารายได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา หน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือกระทรวงคมนาคมได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม.เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในการประชุมครม.ประมาณ 8 ครั้งแล้ว โดยยังคงยืนยันหลักการเดิมว่าไม่เห็นด้วยโดยมท.และกทม.ต้องทำให้เกิดความชัดเจนในทุกประเด็น และถูกต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ตลอดจนหลักธรรมาภิบาล 

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเห็นว่า 1.หากกทม.จะขยายสัญญาสัมปทานในช่วงที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทั้งช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทาง กทม. ควรชำระหนี้สินให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ก่อน ตามมติ ครม. และกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ให้เรียบร้อยก่อนจะเริ่มกระบวนการจัดหาผู้ให้บริการในโครงข่ายสีเขียวส่วนต่อขยาย

2. หาก กทม.ไม่มีความประสงค์ให้บริการสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อไป เห็นควรให้เสนอ ครม.เพื่อทบทวนมติ ครม.เมื่อ 26 พ.ย.61และมอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย(โอนโครงการกลับคืน รฟม.)

3. หากมีการต่อขยายสัญญาสัมปทาน บริษัทต้องแจ้งความประสงค์ไปยัง กทม. ในเวลาไม่มากกว่า 5 ปี และไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนวันสิ้นสุดสัญญา และต้องได้รับการอนุมัติจาก ครม.ก่อนซึ่งเหตุผลที่ต้องกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการทราบก่อนเวลา เนื่องจากต้องให้หน่วยงานที่กำกับต้องพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการร่วมทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีผู้บริโภค

4. กรณี กทม. มีภาระหนี้จากการว่าจ้างเอกชนติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าและว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้ง 2ส่วน ที่ได้ทำเมื่อปี 59 นั้น ควรมีการตรวจสอบสัญญาว่ามีความชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลหนี้ดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต่อไป