“ยาโมลนูพิราเวียร์” ทางเลือก-ความหวัง สู้โควิด-19

“ยาโมลนูพิราเวียร์” ทางเลือก-ความหวัง สู้โควิด-19

ยาต้านโควิด “โมลนูพิราเวียร์” ชนิดเม็ดตัวแรกกำลังเป็นที่สนใจของผู้คนในช่วงไม่กี่วันนี้ หากได้รับการอนุมัติช่วงสิ้นปี อาจได้นำเข้าไม่เกิน มกรา 65 รัฐบาลต้องเดินหน้าทำให้ประชาชนเชื่อมั่น และหวังว่าความเครียดจากโรคร้ายนี้จะหมดไปในไม่ช้า

เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,866 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 102 ราย โดยยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,667,097 ราย ส่งผลให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมถึง 17,211 ราย ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตมีผู้เสียชีวิตรวม 17,305 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ 108,022 ราย กลุ่มคนไข้อาการหนักที่มีอาการปอดอักเสบที่น่าวิตก 3,017 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 720 ราย ยอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 10,115 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564 จำนวน 1,514,344 ราย

วันเดียวกัน ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงความคืบหน้ายาต้านไวรัสโควิด-19 “ยาโมลนูพิราเวียร์” ที่กำลังจะเป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรก ปรากฏเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน เป็นผลมาจากยาชนิดนี้โดนใจคนทั่วโลก นับเป็นปรากฏการณ์ในรอบ 2 ปี ที่มนุษยชาติหวาดผวากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในสถานการณ์การฉีดวัคซีนยังห่างไกลเป้าหมาย 70% ของประชากร ประเทศไทยจึงมีกระแสตอบรับมากเป็นพิเศษ แม้อาจจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงก็ตาม

จากทางเดียวที่เป็นทางรอดคือต้องฉีดวัคซีนเพื่อให้อาการป่วยไม่หนัก และลดการเสียชีวิตลง โมลนูพิราเวียร์จึงเป็นมากกว่าวัคซีนทางเลือก เป็นทางเลือกในการรักษาโควิด-19 ด้วยการกิน ที่สำคัญการทำงานของโมลนูพิราเวียร์ พิเศษกว่าวัคซีน ยาชนิดนี้ไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่โปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 แต่จะเล็งเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อไวรัสโควิด-19 ในการคัดลอกตัวเองเพื่อแพร่กระจายออกไป โมลนูพิราเวียร์จะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสเกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถขยายจำนวนมากขึ้น จึงมีประสิทธิภาพยับยั้งแม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์

สำหรับการเตรียมพร้อมในประเทศไทย มีการตื่นตัวของกรมการแพทย์รวมถึงโรงพยาบาลที่มีคณะแพทยศาสตร์ 3 แห่ง ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ที่กำลังดำเนินการขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน เพื่อทำการวิจัยทางคลินิกได้ในต้นเดือน ธ.ค.นี้ เป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญและน่าชื่นชม ในระหว่างที่รอให้บริษัท เมอร์ค กับ ริดจ์แบค ไบโอเทราพิวติกส์ ที่ร่วมกันพัฒนายาโมลนูพิราเวียร์ และอยู่ระหว่างการประเมินผลการทดลองเฟส 3 กำลังรอการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน

เมื่อได้รับการอนุมัติจาก อย.สหรัฐ ก็ต้องผ่านการรับรองจาก อย.ไทย คาดว่าอยู่ในช่วงเดือน พ.ย. นี้ ถึงต้น ธ.ค.นี้ และจะนำเข้ามาได้จริงไม่เกินเดือน ม.ค.2565 ไทม์ไลน์ดังกล่าว ทำให้การศึกษายาโมลนูพิราเวียร์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจำเป็นต้องทำคู่ขนานกันไป ล่าสุดรัฐบาลไทย กำลังเล็งที่จะให้ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่นำมาใช้รักษาโควิด-19 เป็นอันดับแรก ยาโมลนูพิราเวียร์ จะเป็นชื่อที่ต้องจดจำ คนไทยที่ยังกังวลกับการฉีดวัคซีน น่าจะหมดความกังวลและเดินหน้าใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น ความเครียดจากโควิด-19 เกือบ 2 ปี จะต้องมีวันสิ้นสุดในไม่ช้า