'หมอประกิต'เสนอขึ้นภาษีบาปช่วยลดภาระบัตรทอง

'หมอประกิต'เสนอขึ้นภาษีบาปช่วยลดภาระบัตรทอง

"หมอประกิต" เสนอขึ้นภาษีบาปช่วยลดภาระบัตรทอง ชี้หลักการสร้างนำซ่อมต้องลดดื่ม-สูบลง

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า การควบคุมสินค้าที่ทำลายสุขภาพถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดภาระโรค และลดภาระงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ซึ่งนอกจากการที่รัฐบาลจะต้องหาแหล่งเงินเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป คือการควบคุมสินค้าทำลายสุขภาพด้วยการขึ้นภาษีทั้งสุราและยาสูบ โดยการขึ้นภาษีจะลดการบริโภคสินค้าทำลายสุขภาพลงได้ และเป็นหลักการที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นเมื่อเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ต้องควบคุมปัจจัยที่ทำลายสุขภาพด้วยสโลแกน“สร้างนำซ่อม”ควบคู่ไปกับการประกันสุขภาพ

“กรณียาสูบพบว่าทำให้คนไทยป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งล้วนเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง (High cost care)ผู้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ จะป่วยเรื้อรังและป่วยหนักโดยเฉลี่ยเป็นเวลาคนละ2ปี ก่อนที่จะเสียชีวิต และระยะสุดท้ายของโรคมักจะต้องรักษาตัวใน ไอ ซี ยู ทั้งนี้แต่ละปีมีคนไทยสูบบุหรี่จนป่วยเรื้อรัง และเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงที่กล่าวแล้ว ถึงปีละกว่า50,000คน และยังมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากยาสูบที่ยังอยู่ในระหว่างการรักษา กว่า1ล้านคน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า การขึ้นภาษียาสูบ จะทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น ร้อยละ10และทำให้การสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ4ซึ่งการลดลงของการสูบบุหรี่จะทำให้ค่าใช้จ่ายโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นช้าลง โดยผู้สูบบุหรี่ที่ยากจนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการขึ้นภาษี ที่สุขภาพดีขึ้นจากการสูบบุหรี่น้อยลงหรือเลิกสูบ ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการขึ้นภาษียาสูบ คือ จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น โดยนโยบายการขึ้นภาษียาสูบ ทำให้รัฐเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบ เพิ่มขึ้น4เท่า ซึ่งนโยบายขึ้นภาษียาสูบจึงเป็นนโยบายที่ธนาคารโลกย้ำมาตลอดว่าเป็นนโยบายกำไรสามต่อ คือทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย