KPI ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ รัฐบาลรุ่งหรือร่วง

KPI ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ รัฐบาลรุ่งหรือร่วง

รัฐบาลเศรษฐา พยายามผลักดันดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้เป็นจริง แต่ต้องติดตามกันว่า แหล่งที่มาของเงิน 5 แสนล้านบาทจะมาจากเงินกู้ หรือจะเอามาจากงบประมาณปี 2568 หรือใช้ทั้งสองส่วนผสมผสานกัน

เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ “โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ให้เป็นจริงว่ากันว่างานนี้ “เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง” ได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการ Digital Wallet วานนี้ (27 มี.ค.) ว่ากระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณจะต้องนำเสนอแนวทางการจัดหางบประมาณมาดำเนินโครงการ ให้ที่ประชุมพิจารณาในวันที่ 10 เม.ย. เพื่อจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือน เม.ย. นี้ เพื่อให้ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ถึงมือประชาชนให้ได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

ต้องรอดูว่าแหล่งที่มาของเงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะใช้ในโครงการนี้จะมาจากไหนระหว่างการใช้เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่ได้มีการหารือกันมาก่อนหน้านี้ หรือใช้งบประมาณปี 2568 รวมทั้งใช้ผสมผสานกันทั้งเงินกู้กับเงินงบประมาณ โดยรัฐบาลจะเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุด จากนั้นจะแถลงให้ประชาชนรับทราบ และเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ พร้อมมีมาตรการป้องกันทุจริตเพื่อให้สามารถดำเนินการได้รัดกุมรอบด้าน

ขณะที่วงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 รวม 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากปีงบประมาณ 2567 ที่มีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลการคลัง 713,000 ล้านบาท ภายใต้การประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ 2.887 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.6% อัตราหนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 12,664,069 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 63.73%

โดยประมาณการเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วง 3.1 - 4.1% (ค่ากลาง 3.6%) และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5% โดยมูลค่า GDP ของไทย อยู่ที่ 20,049,451 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีอยู่ที่ 19,022,250 ล้านบาท

คำถามคือหากใช้การกู้เงินมาดำเนินโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” แล้วจะทำให้จำนวนการขาดดุลการคลังเพิ่มจาก 713,000 ล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาท และทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นจาก  63.73% อีกอย่างแน่นอน และอัตราหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การเลือกแนวทางแบบผสมผสานระหว่างการกู้เงินและใช้งบประมาณอาจจะมีความเป็นไปได้ เพื่อให้ประชาชนมี “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ได้ใช้จ่ายช่วงปลายปีระหว่าง ต.ค.ไปจนถึง 31 ธ.ค. ซึ่งเป็นไตรมาส 4 ของปี 2567 ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้า

เชื่อว่ารัฐบาลต้องพยายามอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน อายุ 16 ปีขึ้นไป รายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน มีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาทได้รับอานิสงส์ที่เป็นเรือธงอย่างเต็มที่

เพราะหากไม่สามารถดำเนินการตามที่ประกาศได้ ความเชื่อมั่นของรัฐบาลก็จะถูกลดถอนลงไป คะแนนเสียงที่เคยเทให้อย่างท่วมท้นก็น่าจะหดหาย จึงจำเป็นต้องผลักดัน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ให้เป็นจริง เพื่อรักษาฐานเสียงให้อยู่กับรัฐบาลตลอดไปได้ ต้องรอลุ้นว่า 10 เมษายน 2567 จะเป็นวันมงคล ที่ประชาชนไปเที่ยวในช่วงสงกรานต์อย่างมีความสุขได้หรือไม่