จับจังหวะลงดาบยุบ ‘ก้าวไกล’ เทียบไทม์ไลน์ โทษประหารการเมือง

จับจังหวะลงดาบยุบ ‘ก้าวไกล’ เทียบไทม์ไลน์ โทษประหารการเมือง

ทั้งหมดคือขั้นตอนในชั้น กกต. และ ป.ป.ช.ทุกแง่มุมของ“พรรคก้าวไกล”ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง ส่วนบทสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป

KeyPoints

  • "พรรคก้าวไกล" กำลังอยู่ระหว่างทางสุ่มเสี่ยงที่จะโดนร้องเรียนถึงขั้น "ยุบพรรค" ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำ "ล้มล้างการปกครอง" จากกรณีแก้ไขมาตรา 112
  • เทียบไทม์ไลน์หากร้อง กกต.สอบผิด พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ม.92 คดียุบ "อนาคตใหม่" ใช้เวลาราว 10 เดือน ส่วนยุบ "ทษช." ใช้เวลาแค่ 6 วัน
  • จับตา 44 สส.ก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 จะถูก ป.ป.ช.สอบแล้วลงดาบ ซ้ำรอย "ช่อ พรรณิการ์" หรือไม่

พรรคก้าวไกล” กำลังอยู่ในจุดสุ่มเสี่ยงทางการเมืองอย่างมาก พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เมื่อครั้งสวมหมวกหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ “พรรคก้าวไกล” มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีการยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า “พิธา-ก้าวไกล” มีเจตนาแยกสถาบันฯออกจากชาติ โดยชนวนเหตุมาจากการยื่นแก้ไขเพิ่มเติมร่างประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท โดยแยกหมวดความผิดในมาตรา 112 จากเดิมเป็นความผิดในหมวดความมั่นคงของรัฐ กลายเป็นหมวดความผิดฐานอื่น นอกจากนี้ “พิธา” ยังมีแนวคิดสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 จากการติดสติกเกอร์สีแดงในช่อง “ยกเลิก ม.112” ของ “กลุ่มทะลุวัง” ในการปราศรัยก่อนการเลือกตั้ง 2566

ถือเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้สถาบันฯชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นเหตุให้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

อย่างไรก็ดี “ก้าวไกล” ยืนกรานหนักแน่นว่าการยื่นแก้ไขร่างกฎหมายมาตรา 112 มิใช่การล้มล้าง และยืนยันไม่มีเจตนาแยกสถาบันฯออกจากชาติแต่อย่างใด พร้อมกับเชื่อว่า “พรรคก้าวไกล” จะไม่ถูกยุบพรรคอย่างแน่นอนจากการกระทำดังกล่าว

โดยพรรคก้าวไกล กังวลว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาว เช่น อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต อาจจะกระทบต่อความเข้าใจของประชาชนต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ไม่ว่าคำชี้แจงจาก “ก้าวไกล” จะเป็นอย่างไร แต่ไม่อาจหยุดบรรดา “นักร้อง” ที่เข้ายื่นเรื่องพร้อมแนบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าว ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการต่อ ในวันถัดมาหลังศาลมีคำวินิจฉัยทันที (1 ก.พ.)

โดยเฉพาะรายของ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถึงกับชี้ช่องว่า กกต.ควรไต่สวนเรื่องนี้ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 เพื่อชงศาลรัฐธรรมนูญ “ยุบพรรค” ด้วย

นอกจากนี้ 44 สส.ก้าวไกล ที่ไปร่วมเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อปี 2564 จะถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวนว่าผิดตามมาตรฐานจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรงหรือไม่ เพื่อให้ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกา ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตต่อไป

ประเด็นเหล่านี้ ต้องรอ กกต.-ป.ป.ช.รวบรวมข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายให้เสร็จสิ้นกระบวนความเสียก่อนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

อย่างไรก็ดีขั้นตอนการไต่สวนประเด็น “ยุบพรรค” มิใช่ทำกันได้ง่าย ๆ เพราะต้องทำด้วยความระมัดระวังรอบคอบ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) ที่เป็นตัวบทกฎหมายหลักที่ “นักร้อง” ยื่นต่อ กกต.ให้ไต่สวนพรรคก้าวไกล บัญญัติว่า

 เมื่อคณะกรรมการ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

โดยตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 93 นั้น เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ กกต. เพื่อพิจารณา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 กกต. จะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต. จะขอให้อัยการสูงสุด (อสส.) ช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้

เท่ากับว่า ขั้นตอนแรก กกต.ต้องให้นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.เป็นตามตำแหน่ง) รวบรวมพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจึงให้ผู้ร้อง และผู้ถูกร้องเข้ามาชี้แจงพยานหลักฐาน ก่อนจะเสนอเรื่องแก่ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต.ชุดใหญ่ เพื่อลงมติว่าจะยกคำร้อง หรือเห็นว่าคำร้องมีมูลส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นที่น่าสนใจ ไทม์ไลน์การยุบพรรคชื่อดังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น ยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรค ปล่อยเงินกู้ให้พรรค 191.2 ล้านบาท โดยมิชอบนั้น ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 เดือน จึงถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ในส่วนของการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน กลับใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 6 วันเท่านั้นก็ชงเรื่องถึงมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

โดยไทม์ไลน์ยุบพรรค ทษช. คือ 8 ก.พ. 2562 พรรค ทษช.เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ 11 ก.พ. กกต.ประชุมถึงเรื่องร้องเรียนยุบพรรค ทษช. 12 ก.พ.ช่วงดึก กกต.มีมติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญ 13 ก.พ.ช่วงเที่ยง กกต.ออกเอกสารข่าวว่าส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย วันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าวว่ารับเรื่องจาก กกต.แล้ว ถัดมาเมื่อ 7 มี.ค.ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรค ทษช.

แต่ความต่างในคดีล้มล้างการปกครองของ “ทษช.-ก้าวไกล” คือ ในส่วน ทษช.นั้น กกต.ทำการไต่สวนตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ก่อน ส่วนพรรคก้าวไกล กกต.ไต่สวนภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพรรคล้มล้างการปกครองไปแล้ว

ในส่วนการไต่สวนเรื่องดังกล่าวในชั้น ป.ป.ช.คือ กรณีการร้องเรียนกล่าวหา 44 สส.ก้าวไกล ผิดมาตรฐานจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งมี สส.หลายคนถูก ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลผิดในคดีจริยธรรม 

โดยขั้นตอนการไต่สวนของ ป.ป.ช. คล้ายคลึงกับคดีอื่น ๆ คือ ป.ป.ช.จะทำการรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้น ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า เรื่องดังกล่าวมีมูลหรือไม่ หากไม่มีมูลให้ยกคำร้อง ถ้ามีมูลจะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง

หลังจากนั้น จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า ข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลจะแจ้งข้อกล่าวหา เพื่อเปิดช่องให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงพยานหลักฐาน หลังจากนั้นจะไต่สวนโดยละเอียด ก่อนจะชงที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่าจะมีมูลถึงขั้นชี้มูลความผิดหรือไม่ หากชี้มูลความผิด จะส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อร้องขอให้ศาลตัดสิทธิทางการเมืองต่อไป

ในบรรดา สส.หลายคนที่โดน ป.ป.ช.ชี้มูลผิดจริยธรรม มีอยู่คนหนึ่งที่มีพฤติการณ์ใกล้เคียงกับกรณีพรรคก้าวไกล คือ “ช่อ พรรณิการ์ วานิช” อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีโพสต์ภาพ และข้อความจำนวนมากในเฟซบุ๊ก ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจไปในทางที่อาจเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมิบังควร 

ต่อมาศาลฎีกา มีคำพิพากษาว่า พรรณิการ์ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย ให้ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ทั้งหมดคือขั้นตอนในชั้น กกต. และ ป.ป.ช.ทุกแง่มุมของ“พรรคก้าวไกล”ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง ส่วนบทสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป