อาฟเตอร์ช็อกคดี ม.112 ฟันธงก้าวไกล ‘ทางแยก-เสี่ยงแตก’

อาฟเตอร์ช็อกคดี ม.112 ฟันธงก้าวไกล ‘ทางแยก-เสี่ยงแตก’

“พรรคก้าวไกลผมมองว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่เขาจะแตกกันจากเรื่องนี้ อาจจะมีบางคนเห็นว่าทำได้ บางคนเห็นว่าทำไม่ได้ บางคนเห็นว่าทำไป เดี๋ยวซวยอีก แค่นี้ยังไม่เหรอ มันอาจจะเป็นชนวนทำให้พรรคก้าวไกลเกิดความขัดแย้ง"

Key Points: 

  • หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งห้าม ก้าวไกล ใช้ ม.112 หาเสียงทางการเมือง ปมยุบพรรคถูกส่งไม้ต่อไปที่ กกต. ปม 44 สส. ยื่นแก้ไขม.112 ถูกส่งให้ ป.ป.ช. สอบสวน
  • "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ผู้นำจิตวิญญาณ "ก้าวไกล" กระทุ้งให้สู้ต่อ แต่รู้ว่าภายในพรรคมีหลายคนคิดจะถอย
  • จึงมองว่า "ก้าวไกล" เดินเข้าสู่จุดที่ต้องตัดสินใจ และสุ่มเสี่ยงที่พรรคจะแตก

พลันที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยปม ม. 112 สั่งไม่ให้เสนอเป็นนโยบายหาเสียง พร้อมทั้งสั่ง “พรรคก้าวไกล” หยุดการกระทำ แรงสั่นสะเทือนภายในพรรคเกิดขึ้นทันที

กลุ่มหนึ่ง  อยากเดินหน้ายืนยันในจุดยืนต้องเสนอแก้ไข ม. 112 ต่อ เท่าที่พอจะมีช่องทางดำเนินการได้ เพราะหากยอมถอยจะเสียแต้มทางการเมือง 

กลุ่มสอง มองเห็นเป็นทางลง ยอมลดเพดาน ถอยฉากออกมาเพื่อรุกเก็บแต้มจาก “อนุรักษนิยม” ที่ชื่นชอบนโยบาย แต่ติดที่เสนอแก้ไข ม. 112

“ปิยบุตร แสงกนก” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เลขาธิการคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “คมชัดลึก” ออกอากาศทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 สะท้อนจุดยืนต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครอง พร้อมทั้ง

วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผลกระทบทางการเมือง รวมทั้งความเสี่ยงต่ออนาคตพรรคก้าวไกล

แนะสู้ต่อลุยแก้ ม.112 ตอบกรอบศาล

ปิยบุตร ระบุว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแม้แต่ประเด็นเดียว ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญคงไม่อยากวินิจฉัยไปถึงขนาดห้ามแตะต้อง ม.112 เลย ใครจะไปรู้ว่า ในอนาคตจะมีคนอยากแก้ ซึ่งอาจไม่ใช่พวกพรรคก้าวไกลเลยก็ได้ สมมุติจะแก้เพิ่มโทษอย่างนี้”

สำหรับข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข ม. 112 ของ 44 สส. พรรคก้าวไกล  ปิยบุตร มองว่า การเสนอกฎหมายของ สส. มีช่องทางตรวจสอบอยู่แล้ว เมื่อสภาฯผ่านจนวาระ 3 แล้ว ระหว่างนั้น สส. เข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ไม่ต้องใช้มาตรา 49 ตั้งแต่แรก ไม่เช่นนั้นศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบกฎหมายได้ทั้งหมด ทำให้การถ่วงดุลเสียไป ถือเป็นการใช้ผิดช่องทาง

“ศาลรัฐธรรมนูญควรตรวจกฎหมายตอนจบ พอมาตรวจตอนต้นมันก็ไม่ต้องออกกฎหมายกันแล้ว มันจะทำให้ประเทศนี้ร่างกฎหมายด้วยศาลรัฐธรรมนูญ เราจะเป็นอย่างนั้นหรือ” ปิยบุตร กล่าว

 เขาเสนอทางออกในเรื่องนี้ด้วยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีมาล้ำแดนองค์กรอื่น อย่างนี้รัฐสภาซึ่งถืออำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ ก็แก้ไขมาตรา 49 หรือมองว่าองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ มาจาก สว. ที่มาจากคสช. ก็เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนที่มา หรือเห็นว่าอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไปก็เข้าไปแก้

“ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอาวุธบอกว่า คนอื่นทำขัดรัฐธรรมนูญ แต่คนอื่นมองว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ทำขัดรัฐธรรมนูญ เขาก็สู้กลับด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วตั้งองค์กรใหม่ ก็มันเป็นอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่กับสภาฯ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง” ปิยบุตร ระบุ

มองพรรคขัดแย้งหนัก-เสี่ยงแตก

ต่อข้อถามถึงประเด็นผลคำวินิจฉัย อาจจะเป็นทางลงของพรรคก้าวไกล เพราะถูกมองเป็นเงื่อนไขไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นได้ ปิยบุตร มองว่า “ผมเห็นว่า ถ้าคิดว่าการแก้ ม. 112 ยังจำเป็นอยู่ และต้องหาทางทำ เท่าที่ทำได้ ผมยังเห็นว่าแก้ได้อยู่บางประเด็น ส่วนพรรคก้าวไกลจะหยุดเลย คิดว่าเรื่องนี้เป็นทางลง เขาก็ประเมินตัดสินใจกันเองทางการเมือง”

“พรรคก้าวไกลผมมองว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่เขาจะแตกกันจากเรื่องนี้ อาจจะมีบางคนเห็นว่าทำได้ บางคนเห็นว่าทำไม่ได้ บางคนเห็นว่าทำไป เดี๋ยวซวยอีก แค่นี้ยังไม่เหรอ มันอาจจะเป็นชนวนทำให้พรรคก้าวไกลเกิดความขัดแย้ง ถ้าพิจารณาทางกฎหมายหลายคนมองว่ามันทำได้ แต่ถ้าพิจารณาทางการเมือง หลายคนอาจจะกังวลก็ได้ว่า เดี๋ยวโดน แต่ละคนเมื่อเข้ามาเป็น สส. ก็อยากเป็นอีก จึงอยากลดความเสี่ยง”

“ตอนนี้เหมือนยุทธวิธีแยกปลาออกจากน้ำ ผมเชื่อว่ากลุ่มผู้มีอำนาจ ด้านหนึ่งก็รู้ว่าสึกว่าพรรคก้าวไกลมันดี หลายเรื่องที่ทำมันเยี่ยมยอด แต่ติดกับเรื่อง ม.112 และคิดว่าพรรคก้าวไกลมีประโยชน์ในการถ่วงดุลกับพรรคเพื่อไทยในระยะยาว พอผมคิดแบบนี้ เขาอาจจะลดทอนความร้อนแรงของพรรคก้าวไกลไปเรื่อยๆ จึงแยกกลุ่มออกมา เพราะโดยสภาพ ทุกคนคิดกันแล้วว่า ถ้าอยากเป็นรัฐบาล จะทำอย่างไรให้มีโอกาสได้เป็น ไม่ใช่แค่การชนะเลือกตั้งแน่ๆ”

วาง 2 ชนักให้คิด

เมื่อถามว่า ประเมินความเสี่ยงในการถูกยุบพรรคอย่างไรบ้าง  ปิยบุตร ประเมินว่า เรื่องการยุบพรรคอะไรก็เกิดขึ้นได้ จากคำวินิจฉัยมันจะมี 2 ชนัก ยุบพรรค กับ 44 สส. ก้าวไกล ซึ่งคนในพรรคก้าวไกลก็ต้องคิดกันว่า ถ้าเดินต่อเดี๋ยวโดนนะ ถ้าไม่เดินต่อจะทำอย่างไร

“แกนนำพรรคก้าวไกลต้องคิดว่าจะเดินอย่างไรต่อ แต่ฝั่งผู้มีอำนาจ ผมเชื่อว่าเขาเห็นประโยชน์ของพรรคก้าวไกล การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแบบนี้ มันเปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลตัดสินว่าเขาจะรีแบรนด์ไหม่”

ต่อข้อถามว่า ในมุมกฎหมายมีโอกาสถูกยุบพรรคหรือไม่  ปิยบุตร เห็นว่า “ผมขอสวมวิญญาณเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าต้องการให้ถูกยุบ ผมจะเขียนว่าการกระทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าบอกว่าไม่ถูกยุบ ก็จะเขียนว่าตอนเสนอร่าง ก็ไม่รู้ว่าล้มล้างหรือไม่ ดังนั้นจะใช้คำว่าล้มล้างย้อนหลังไม่ได้ นี่มันจึงออกเป็น 2 แบบ”

เมื่อถามว่า ในมุมส่วนตัวมองว่าพรรคก้าวไกลควรเดินต่ออย่างไร  ปิยบุตร ระบุว่า “ถ้าผมยังอยู่ในพรรคก้าวไกล ผมจะพยายามแก้ ม. 112 ต่อแน่นอน โดยแก้ตามที่ศาลบอก เพราะจุดยืนของพรรคเห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหา เราเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน การเมือง และสถาบันฯ เราพยายามบอกว่า ม.112 มันมีปัญหา จะปรับปรุงให้มันสากลขึ้นได้หรือไม่”

ปิยบุตร ทิ้งท้ายว่า “ทั้งหมดมันจึงอยู่ที่พรรคก้าวไกล ซึ่งผมก็มองไม่ออกเหมือนกัน เพราะมวลชนพรรคมีทั้ง 2 แบบ 1.บอกให้พอ 2.บอกให้ลุยเลย ย้ำว่าถ้าผมยังอยู่ ผมก็จะทำ เพราะมันไม่มีพรรคไหนทำ”