‘เรืองไกร-ธีรยุทธ’ ลุยยื่น กกต.ยุบ ‘ก้าวไกล’ หลังศาล รธน.ชี้ล้มการปกครอง

‘เรืองไกร-ธีรยุทธ’ ลุยยื่น กกต.ยุบ ‘ก้าวไกล’ หลังศาล รธน.ชี้ล้มการปกครอง

มาตามนัด! ‘ธีรยุทธ-เรืองไกร’ โผล่ กกต.ยื่นคำร้องขอให้ ‘ยุบพรรค’ ก้าวไกล-ตัดสิทธิ กก.บห.ทั้งหมด หลังศาล รธน.มติเอกฉันท์ชี้ขาดกระทำการล้มล้างการปกครอง ปมแก้ไข ม.112

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองนั้น เดินทางไปยื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประธาน กกต.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 เรื่องพิจารณาที่ 19/2566

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางเข้ายื่นเรื่องต่อ กกต. ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคก้าวไกลกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) หรือไม่ และเข้าข่ายต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารหรือไม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเรื่องนี้มีเอกสารหลักฐานครบถ้วนอยู่แล้วขาดแต่เพียงคำร้อง เรื่องนี้ไม่น่ายาก

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเคยยื่นเรื่องทักท้วงต่อ กกต.ไปแล้วเมื่อปี 2564 และปี 2566 อีกทั้งเคยยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ สส.ก้าวไกลทั้ง 44 คนที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบหรือไม่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วก็เป็นอำนาจและหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ยืนยันว่าเรื่องนี้ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ไม่ได้ใช้เรื่องของความรู้สึก

ส่วนกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค เคยหาเสียงในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 นั้น นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนก็พยายามรวมรวมหลักฐานอยู่ ไม่ได้ปล่อยทิ้งไป แต่หลักฐานที่มีอยู่ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอ