'มาดามเดียร์' แนะทบทวน 'กฎหมายภาพยนตร์' กระทุ้งรัฐบาล'ชอฟต์พาวเวอร์ ไม่เท่ากับวัฒนธรรม'

'มาดามเดียร์' แนะทบทวน 'กฎหมายภาพยนตร์' กระทุ้งรัฐบาล'ชอฟต์พาวเวอร์ ไม่เท่ากับวัฒนธรรม'

“มาดามเดียร์” แนะทบทวนกฎหมายภาพยนตร์ และกองเซ็นเซอร์ ลั่น “เสียดาย” โอกาสการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระทุ้งรัฐบาล“ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่เท่ากับวัฒนธรรม”

ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรม กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเสวนา “เอายังไงดีกับกองเซ็นเซอร์ : บทบาทของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ภายใต้รัฐบาลซอฟต์พาวเวอร์”

โดยมองว่าเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ ถ้ามองการเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลกปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการใช้ฮาร์ดพาวเวอร์หรือกำลังทหารที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกการเคลื่อนไหวจะเห็นการปฏิรูป การปฏิวัติวัฒนธรรมเกี่ยวข้องอยู่เสมอ การที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย การจำกัดสิทธิเสรีภาพทางความคิดย่อมกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง และการเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจน

วันนี้หากกลับไปดูคณะกรรมการเซ็นเซอร์ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ จะมีอยู่ 2 คณะ คณะแรกคือ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์(เซ็นเซอร์) และมีคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติที่เปรียบเหมือนซูเปอร์บอร์ด โดยมีประธานคือ นายกรัฐมนตรี และมีรองประธานโดยตำแหน่งคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  

ส่วนคณะกรรมการที่เหลือก็เป็นคือ ข้าราชการ เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม ที่มองแล้วอาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ในคณะกรรมการชุดนี้มีผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คนเท่านั้น จึงต้องยอมรับว่าวันนี้มีอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงอยู่จริง

น.ส.วทันยา ยังกล่าวต่ออีกว่า ทุกประเทศที่สามารถพัฒนาประเทศไปสู้ประเทศที่มีรายได้สูง เขาไม่ได้เคลื่อนเพียงแค่มิติของการค้าขาย แต่ยังมีเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์อีกด้วย และเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่คนเขียนกฎหมายมองเพียงแค่เรื่องของความมั่นคง โดยไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งที่เขาพยายามเน้นย้ำเรื่องความมั่นคงนั้นกำลังบั่นทอนอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จะเห็นว่าหลังจากการแก้ไขเมื่อปี 2551

จนถึงปี 2566 พ.ร.บ.ภาพยนตร์ที่แก้ไขเดินทางมาถึง 15 ปี เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมหาศาล เราไม่สามารถไปจำกัดการเข้าสื่อได้เหมือนในอดีตอีกแล้ว

ดังนั้นสิ่งที่อยากจะสะท้อนคือ เราควรจะกลับมาทบทวนเรื่องของกองเซ็นเซอร์ และกฎหมายว่าจะทำอย่างไรให้อัปเดตให้ร่วมสมัยกับค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง กับโลกที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ไม่เอาความคิด และค่านิยมเดิมๆ ไปปิดกั้นการขับเคลื่อนเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ เพราะเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และโอกาสของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่พูดได้อย่างเดียวว่า “เสียดาย เสียดาย เสียดาย”

นอกจากนี้ น.ส.วทันยา ยังได้ฝากถึงรัฐบาลว่า อันดับแรกอยากฝากไปถึงภาครัฐว่า “ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่เท่ากับ วัฒนธรรม” ซึ่งก่อนอื่นเราต้องเข้าใจคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ให้ตรงกันก่อน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถพัฒนาเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ได้สำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนราชการส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเท่ากับวัฒนธรรม รำไทย ข้าวเหนียวมะม่วง แทนที่เราจะทำอะไรให้ถูก กลับไปทางผิด เสียโอกาสของประเทศ ดังนั้นเราจะช่วยกันเสริมสร้างการแสดงออกทางเสรีภาพ และความคิดของคนไทยให้ออกไปไกลทั่วโลกได้อย่างไร

"คนไทยเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลก แทนที่เราจะปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยกันเอง ทำไมเราไม่ช่วยกันสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้ออกไปได้ไกลสู่สายตาคนทั่วโลก ดังนั้นถ้าภาครัฐเข้าใจให้ถูกต้อง ใส่ใจสักนิด และหันมาลงมืออย่างจริงจัง เชื่อว่าคนไทยไปได้ไกลอย่างแน่นอน" น.ส.วทันยา กล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์