ส่อง ‘ครม.นิดหนึ่ง’ เพื่อไทย ‘คนอกหัก’ ไม่นิดหน่อย

ส่อง ‘ครม.นิดหนึ่ง’ เพื่อไทย ‘คนอกหัก’ ไม่นิดหน่อย

"ดังนั้น คนอกหักจำนวนหนึ่ง ได้มองหาลู่ทางที่เดินต่อไปในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้ว เมื่อประเมินว่า แบรนด์ทักษิณไม่ขลังเหมือนเก่า..."

ธรรมชาตินักเลือกตั้ง การเมืองเรื่องแย่งชามข้าวเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนในอดีตที่ผ่านมา เพราะความฝันของ สส.ส่วนใหญ่ ก็อยากได้เป็น ‘เสนาบดี’ สักครั้งหนึ่งในชีวิต

สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่ได้โอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา น่าจะมีคนอกหักมากที่สุด หลังเห็นโฉมหน้า ครม.แล้ว

การเลือกตั้ง สส.ครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ได้ สส. 141 ที่นั่ง ซึ่งน้อยกว่าทุกครั้ง นับแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย (ปี 2554,2562)

มิหนำซ้ำ เพื่อไทยยังมีการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ดึงภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ เข้ามาร่วมด้วย โดยมีการต่อรองโควตารัฐมนตรี ได้กระทรวงเกรดเอไปจำนวนไม่น้อย

สส.เพื่อไทยส่วนใหญ่ รู้สึกไม่พอใจในการจัดสรรโควตารัฐมนตรี แต่ไม่กล้าโวยวายมาก เนื่องจากคนแดนไกล ได้เข้ามาเป็น “คนแดนใกล้” นอนอยู่ที่ รพ.ตำรวจ พวกเขาตกอยู่ในสภาพหวานอมขมกลืน

เมื่อพิจารณาดูรายชื่อรัฐมนตรี ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ปรากฏว่า มีที่มาจาก 3 กลุ่มหลักคือ บ้านจันทร์ส่องหล้า กลุ่มทุน และตัวแทน สส.ภาค

บ้านจันทร์ส่องหล้า สายตรงนายใหญ่-นายหญิง ประกอบด้วย

  • ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ ควบ รมว.ต่างประเทศ
  • ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์
  • จักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ
  • พิชิต ชื่นบาน ที่แม้จะขอสละสิทธิ รมต.ประจำสำนักนายกฯ หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์คุณสมบัติอย่างหนัก

กลุ่มทุนในและนอกพรรค

  • สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม
  • สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี
  • สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
  • ลูกสาวเสี่ยป้อ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล บริษัท เอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด

กลุ่ม สส.ภาค ที่มี สส.อาวุโสอยู่เป็นจำนวนมาก และหลายคนยังไม่เคยได้เป็นรัฐมนตรี หากคำนวณตามคณิตศาสตร์การเมือง สส.เขตของเพื่อไทย จะได้ รมต.มากกว่า 10 เก้าอี้ ลองไล่เรียงรัฐมนตรี ที่เป็นตัวแทนโควตาในแต่ละภาค

กทม. : ที่มี สส. 1 คน พวงเพ็ชร ชุนละเอียด มาดามนครบาล ได้นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ

ภาคกลาง : หมอหนุ่ย-สุรพงษ์ ปิยะโชติ นายก อบจ.กาญจนบุรี  เป็น รมช.คมนาคม ท่ามกลางข้อกังขาหมอหนุ่ย โควตาใครกันแน่ 

ภาคเหนือ : นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน เป็น รมว.สาธารณสุข และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ ลูกชายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็น รมช.คลัง

ภาคอีสาน : ประเสริฐ จันทรรวงรอง สส.บัญชีรายชื่อ เป็น รมว.ดีอีเอส โควตาโคราช ร่วมกับลูกสาวกำนันป้อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี

ตัวแทนอีสานตอนกลาง : สุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ เป็น รมว.กลาโหม สุดเซอร์ไพรส์

การตั้งสุทิน คุมกลาโหม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อไทยกับกองทัพไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะการปฏิเสธข้อเสนอจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะผลักดัน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็น รมว.กลาโหม 

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช สามี ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช เป็น รมว.วัฒนธรรม เป็นโควตา สส.ขอนแก่น หรือเป็นเรื่องที่นายใหญ่เยียวยาครอบครัวพงษ์พานิช 

ตัวแทนอีสานตอนเหนือ : ไชยา พรหมา สส.หนองบัวลำภู เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ สายตรงบ้านแจ้งวัฒนะ 

แม่ทัพอีสานตอนใต้ : เกรียง กัลป์ตินันท์ สส.บัญชีรายชื่อ เป็น รมช.มหาดไทย สายตรงบ้านแจ้งวัฒนะ

มนพร เจริญศรี สส.นครพนม 3 สมัย แซงหน้า สส.อาวุโส 6-7 สมัย เข้าป้าย รมช.คมนาคม โดยพักหลัง เห็น สส.เดือน มนพร เดินตามหลังสมศักดิ์ เทพสุทิน

สำหรับรายชื่อคนอกหักนั้น คงไล่เรียงไม่หวาดไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็น สุชาติ ตันเจริญ สนธยา คุณปลื้ม ชูวิทย์ กุ่ย พิทักษ์พรพัลลภ ฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด 7 สมัย จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ดพงศกร อรรณนพพร สส.บัญชีรายชื่อ จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ วิสุทธิ์ ไชยณรุน สส.บัญชีรายชื่อ วรวัจน์ เอื้ออภิญกุล สส.แพร่ ฯลฯ

หลังผ่านการทำคลอด ครม.เศรษฐา 1 ‘คนแดนใกล้’ คงต้องมาพิจารณาดูว่า พรรคเพื่อไทย จะไปต่ออย่างไร เมื่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค และตั้ง ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.ระบบบัญชีรายชื่อ เป็นรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

การจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ หรือสลายขั้ว ต้นทุนของเพื่อไทย อาจจะเหลือไม่ถึง 50% และไม่แน่ใจว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกเพื่อไทย 10 ล้านเสียง เมื่อ 14 พ.ค.2566 ในวันนี้จะเหลืออยู่เท่าไหร่

เสร็จศึกเลือกตั้งใหม่ๆ ทักษิณ ชินวัตร ก็บอกว่า ต้องรีแบรนด์พรรคเพื่อไทย ไม่งั้นสู้พรรคก้าวไกลไม่ได้แน่ ทั้ง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน ก็เห็นพ้องต้องกัน

จะรีแบรนด์แบบไหน เป็นโจทย์ยากของแกนนำเพื่อไทยชุดใหม่ รวมถึงคนในตระกูลชินวัตร 

ที่สำคัญ นายกฯเศรษฐา ต้องเร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์โดยเร็ว เพื่อกอบกู้ศรัทธาคืนกลับมา 

ว่ากันตามจริง รัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่อย่างนี้ โอกาสที่รัฐนาวาเศรษฐา จะล้มเหลวมากกว่าประสบผลสำเร็จ

ดังนั้น คนอกหักจำนวนหนึ่ง ได้มองหาลู่ทางที่เดินต่อไปในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้ว เมื่อประเมินว่า แบรนด์ทักษิณไม่ขลังเหมือนเก่า

ยิ่งการเดินแนวทางประนีประนอมกับชนชั้นนำ เพื่อผลประโยชน์ของใครบางคน ก็ยิ่งทำให้แฟนพันธุ์แท้เพื่อไทย นับวันจะทิ้งพรรคไปเรื่อย ๆ

เพื่อไทยในชั่วโมงนี้ ต้นทุนทางการเมืองที่จ่ายไปในการตั้งรัฐบาลเศรษฐา อาจประเมินค่าความเสียหายไม่ได้