วันที่ 22 ทำให้มองเห็น "สู่จุดจบ!" | ไสว บุญมา

วันที่ 22 ทำให้มองเห็น "สู่จุดจบ!" | ไสว บุญมา

ประวัติศาสตร์ชาติไทยจะบันทึกไว้ว่าในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เกิดเหตุการณ์ใหญ่แบบไม่บังเอิญขึ้น 2 อย่าง กล่าวคือ ในช่วงเช้าอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องคดีฉ้อฉลแต่ไม่ยอมจำนน จึงหนีไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ 17 ปี เดินทางกลับมารับโทษ

ส่วนเหตุการณ์ที่สองคือ ในช่วงบ่ายรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งได้คนจากพรรคการเมืองที่สืบทอดอุดมการณ์มาจากพรรคของอดีตนายกฯ คนนั้น แต่ประวัติศาสตร์อาจไม่บันทึกว่า ช่วงนี้เป็นวาระครบรอบ 22 ปี ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีที่อ้างถึงเข้ารับตำแหน่งครั้งแรก และหนึ่งในนโยบายใหม่ที่เขาเริ่มใช้ในตอนนั้นวางอยู่บนฐานของการเป็นประชานิยมแบบเลวร้าย

นโยบายในแนวดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้อยู่ในละตินอเมริกา โดยเฉพาะในอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา ประวัติศาสตร์บ่งว่า โดยทั่วไปสามารถสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนส่งผลให้เกิดความนิยมในตัวผู้นำ แต่ก็ทำให้ประเทศล้มละลายหลังจากใช้เป็นเวลานาน ตามด้วยความล้มลุกคลุกคลานต่อมา 

ทันทีที่ถูกนำเข้ามาใช้ในเมืองไทย ผมนำประวัติของการใช้ในอาร์เจนตินามาเสนอเพื่อเตือนคนไทยให้ตระหนัก โดยเฉพาะในหนังสือชื่อ “ประชานิยม หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?” หนังสือเล่มนี้ได้รับการปรับเพิ่มเนื้อหาและพิมพ์ออกมาใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ” ซึ่งขณะนี้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา และฟังได้จาก YouTube

ณ วันนี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังไม่ได้เริ่มทำงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี นโยบายที่พรรคของเขาประกาศไว้ในช่วงหาเสียงชี้ชัดว่าจะมีส่วนที่เป็นประชานิยมแนวเลวร้าย เช่น การแจกเงินดิจิทัลให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปคนละ 10,000 บาททันที

นอกจากนี้จะมีอะไรตามมาคงจะประจักษ์ในเวลาไม่นาน ประวัติศาสตร์บ่งว่าอาร์เจนตินาใช้เวลา 40 ปีก่อนที่จะล้มละลาย หลังใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย 

ไทยจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของนโยบาย หากมันไม่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลอาจไม่ถึงกับล้มละลาย แต่ก็จะทำให้การพัฒนาช้าลงกว่าที่น่าจะทำได้ เพราะทรัพยากรสำหรับใช้ในการพัฒนาจะน้อยลง

ย้อนเวลาไป 22 ปี การได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มองได้ว่าเป็นการเกิดนิมิตใหม่พร้อมกันไปด้วย ทั้งนี้เพราะเขามาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่นักประชาธิปไตยมักมองกันว่าใกล้อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญกว่า 1 โหลของไทย เขามีความทันสมัยในยุคดิจิทัลสูงมาก เนื่องจากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงในด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่านโยบายของรัฐบาลในช่วงนั้นนอกจากจะก่อปัญหาใหม่โดยการใช้ประชานิยมแบบเลวร้ายแล้ว ส่วนใหญ่ยังจะไม่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศไปในแนวที่ควรจะเป็นอีกด้วย ผมจึงเสนอว่าอะไรเป็นปัจจัยในหนังสือชื่อ “สู่จุดจบ!” เมื่อตอนต้นปี 2549 (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ดังกล่าวและฟังได้จาก YouTube เช่นกัน)

หนังสือเล่มนี้มองข้อมูลและแนวโน้มต่างๆ ของสังคมไทยโดยใช้ประวัติศาสตร์การพัฒนาเป็นบริบทอ้างอิง ข้อมูลและแนวโน้มเหล่านั้นชี้บ่งว่า สังคมไทยจะประสบปัญหาร้ายแรง และแทนที่นโยบายของรัฐบาลใหม่จะทำให้มันเปลี่ยนไปในทางที่ดีกว่า กลับจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น

มุมมองนั้นคงทำให้รัฐบาลไม่พอใจจึงมีผู้สั่งให้ผู้จัดจำหน่ายหนังสือเก็บ “สู่จุดจบ!” ต่อมาอีก 6 ปีจึงมีสื่อแห่งหนึ่งนำหนังสือเล่มนี้ออกมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต และในปี 2562 นายกรัฐมนตรีได้แนะนำให้คนไทยอ่าน

การที่หนังสือเล่มเดียวกันถูกผู้กำอำนาจห้ามวางขาย และต่อมาได้รับการแนะนำให้อ่านโดยนายกรัฐมนตรีจะบ่งชี้อะไรคงตีความหมายได้หลายอย่าง ในฐานะผู้เขียนซึ่งติดตามการพัฒนาของไทยมาหลายทศวรรษ มองว่าเราเสียโอกาสดีๆ ที่จะทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ดีกว่าทั้งในด้านความเป็นธรรมและความยั่งยืน 

โอกาสที่ดีที่สุดเมื่อ 22 ปีที่แล้วเสียไป ส่งผลให้ผู้นำกำลังถูกจำคุก โอกาสในมือของรัฐบาลต่อมาก็เสียไป ส่งผลให้เครือข่ายของผู้นำที่ถูกจำคุกได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากชี้ชัดว่าจะนำประชานิยมแบบเลวร้ายกลับมาใช้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น แม้ขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับส่วนประกอบของนโยบาย แต่ดูจะไม่มีอะไรที่จะยับยั้งไทยมิให้เดินไปในทาง “สู่จุดจบ!”